ทัพนักธุรกิจจีนบุก โอกาสไทยดึงลงทุน รับอุตฯยุคใหม่ลด CO2

21 มิ.ย. 2566 | 17:34 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 18:07 น.

ไทยพร้อมรับทัพนักลงทุนจีน 24-26 มิ.ย.นี้ หอการค้าฯ ฉายภาพแก้อุปสรรคและโอกาสทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน จี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นตามแผน สร้างความเชื่อมั่น “บีโอไอ” ชงแพ็กเกจ ดึงยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย

ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีนักธุรกิจจีนจากทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 2,500 คน รวมกับนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนชั้นนำจะเข้าร่วมอีกกว่า 1,000 คน และคาดนักธุรกิจจีนที่จะเดินทางเข้ามาไทยในครั้งนี้จะนำครอบครอบครัวเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนในไทยด้วย รวมกันแล้วคาดจะมีการเดินทางเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว 5,000-6,000 คน คาดจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการเข้าพักโรงแรม การจับจ่ายใช้สอยจากการท่องเที่ยว รวมถึงการเจรจาการค้า และการร่วมลงทุนรวมหลายหมื่นล้านบาท

ทัพนักธุรกิจจีนบุก โอกาสไทยดึงลงทุน รับอุตฯยุคใหม่ลด CO2

  • จีนคู่ค้าอันดับหนึ่งไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ที่จะเข้าร่วมงานและร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นที่จะฉายภาพบนเวทีของการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการเน้นให้เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความสัมพันธ์ในทุกมิติกับประเทศจีน โดยจะเน้นยํ้าไทยและจีนต่างเกื้อกูลผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด สะท้อนได้จากด้านการค้า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน โดยในปี 2565 ไทยส่งออกไปจีน 1.19 ล้านล้านบาท ไทยนำเข้าจากจีน 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จากการนำเข้า แต่เป็นสินค้าประเภททุน พวกเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์

ดังนั้น ทั้งสองประเทศยังมีโอกาสที่จะขยายการค้าด้วยกันในด้านต่าง ๆ อีกหลายด้าน จากการกำหนดยุทธศาสตร์การดึงดูดการลงทุน FDI เชิงรุกร่วมกันรวมถึงที่ผ่านมาหอการค้าฯ และสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันตั้งคณะทำงาน Task Force ศึกษาการขยายการลงทุนของประเทศจีนในไทย โดยมีภาควิชาการฝั่งไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝั่งจีน คือมหาวิทยาลัยยูนนาน ว่าอุปสรรคและโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจีนมีอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการเสนอในการเสวนาครั้งนี้ด้วย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

  • เร่งเชื่อมรถไฟเร็วสูงดึงลงทุน

ขณะเดียวกันการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญถึงการเร่งรัดการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ของไทยให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับจีนให้รวดเร็วที่สุด เพราะไทยจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยให้การ Connectivity ของจีนกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเป็นได้อย่างไร้รอยต่อ ดังนั้น ในส่วนของไทยเองรัฐบาลคงต้องเร่งรัดแผนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางราง รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นรวดเร็วตามแผน ส่วนนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนตรงได้มาก

อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย

นอกจากนี้ หอการค้าฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนที่จะนำเอา BOI และ EEC เดินทางโรดโชว์ที่จีนในครึ่งหลังของปีนี้ โดยจะไปเริ่มเจาะที่ปักกิ่ง ก่อนที่จะกระจายไปตามมณฑลต่างๆ โดยมีเป้าหมายเน้นการดึงดูดแบบโฟกัสกับนักธุรกิจรายกลุ่มว่าต้องการที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมใดบ้าง และไทยสามารถตอบโจทย์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนจีนได้อย่างไรบ้าง

  • ลงทุนจีนสอดคล้องนโยบายไทย

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วงการเสวนาภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งนี้ จะฉายภาพให้นักธุรกิจจีนได้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมไทยว่าจะไปในทิศทางใด และไทยมีศักยภาพและความพร้อมตรงไหนบ้าง โดยจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนได้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการลงทุนอุตสาหกรรมในไทยร่วมกัน

 ทั้งนี้ ทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ของไทยมีความสอดคล้องกับของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV พลังงานสะอาด สุขภาพ (Wellness) อาหารอนาคต(Future Food) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รวมถึงการดึงนักลงทุนเข้ามาช่วยสร้างห่วงโซ่ หรือความมั่นคงด้านซัพพลายเชนร่วมกัน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 “ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนาน และปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งจีนมีเทคโนโลยี และนักลงทุนกำลังย้ายฐานออกนอกประเทศเพื่อหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ โดยจีนส่งเสริมการลงทุนในการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด และรถยนต์อีวี ซึ่งตรงกับนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนของไทย”

  • “บีโอไอ” ชงแพ็กเกจ “EV”

นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เผยว่า บีโอไอ ได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรม

รวมถึงสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนจีน และสนับสนุนให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนสามารถจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนคุณภาพในประเทศ และบีโอไอจะเชิญชวนให้บริษัทจีนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย โดยมีมาตรการส่งเสริมทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกจากบีโอไอและกรมสรรพากร

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

สำหรับสถิติยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีน ไตรมาส 1/2566 มีเงินลงทุน 25,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% จำนวน 38 โครงการ ซึ่งปี 2565 จีนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่า 77,381 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

  • โอกาสกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายอดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการสร้างแบรนด์ อิมเมจ เรื่องความปลอดภัยของประเทศ และศักยภาพของไทยในการบริหารจัดการจัดประชุมขนาดใหญ่ รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะได้อานิสงส์ตามมา

อดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

ทั้งนี้ แอตต้าจะรับผิดชอบในการดูแลรับส่งผู้ร่วมประชุมจากจีน ระหว่างเข้าร่วมโปรแกรมในไทย รวมไปถึงการเดินทางในแบบวันเดย์ทริป ซึ่งทางหอการค้าได้จัดโปรแกรมดูงานใน 10 เส้นทาง อาทิ ศูนย์กระจายสินค้า 7-Eleven , เดอะฟอเรสเทียส์,ไทยยูเนี่ยน,นันยาง เท็กซ์ไทล์,นิคมอุตสาหกรรมอมตะ,โรงพยาบาลเมด พาร์ค,BJC,ยูนิคอร์ด รวมทั้งมีเส้นทางท่องเที่ยวอีก 3 เส้นทาง อาทิ วัดวังกรุงเทพฯ, อยุธยา,เมืองโบราณ สมุทรปราการ เป็นต้น

 “ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 1 ล้านคนแล้ว หากไทยสามารถแก้ปัญหากระบวนการออกวีซ่าที่ล่าช้าได้ ต้องมาลุ้นว่าในปีนี้จะมีคนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยได้ 5 ล้านคนตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3898 วันที่ 22 -24 มิถุนายน พ.ศ. 2566