รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เปิดครบ23สถานีวันนี้ (19 มิ.ย.)

19 มิ.ย. 2566 | 00:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 23:15 น.
720

รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการถึงสถานีลาดพร้าว ในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ พร้อมขยายช่วงเวลาให้บริการเป็น 06.00-21.00 น. ตั้งแต่ 20 มิ.ย. เป็นต้นไป

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ​แจ้งว่า รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการถึงสถานีลาดพร้าว ในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.2566 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการเปิดบริการครบทั้ง 23 สถานีเป็นครั้งแรก (ลาดพร้าว-สำโรง) รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร หลังจากเริ่มเปิดทดสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ จะมีการขยายช่วงเวลาให้บริการเป็นระหว่างเวลา 06.00-21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นไป เพื่อรองรับความต้องการเดินทางในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นของประชาชน

ในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ตลอดสายอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง-สถานีลาดพร้าว-สถานีศรีเอี่ยม พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ โดยมีอาคารจอดแล้วจร ให้บริการได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

สำหรับ 23 สถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีดังนี้
1. สถานีลาดพร้าว ตั้งอยู่บน ถ.รัชดาภิเษก ใกล้แยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว
2. สถานีภาวนา ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 41 และปากซอยลาดพร้าว 41, 41/1, 46 และซอยส่องแสงตะวัน
3. สถานีโชคชัย 4 ตั้งอยู่บริเวณทางเข้า ถ.โชคชัย 4, ปากซอยลาดพร้าว 56 และปากซอยลาดพร้าว 58
4. สถานีลาดพร้าว 71 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 71, ปากซอยลาดพร้าว 82 และปากซอยลาดพร้าว 84
5. สถานีลาดพร้าว 83 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 83 และปากซอยลาดพร้าว 85

6. สถานีมหาดไทย ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 120
7. สถานีลาดพร้าว 101 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 101, ปากซอยลาดพร้าว 128/2 และปากซอยลาดพร้าว 128/3
8. สถานีบางกะปิ ตั้งอยู่บริเวณหน้าแมคโครลาดพร้าว และปากซอยลาดพร้าว 115
9. สถานีแยกลำสาลี ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกลำสาลี ถ.รามคำแหง ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีลำสาลี
10. สถานีศรีกรีฑา ตั้งอยู่บริเวณสี่แยก ถ.กรุงเทพกรีฑา ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์, ปากซอยกรุงเทพกรีฑา 2

11. สถานีหัวหมาก ตั้งอยู่บริเวณแยกพัฒนาการ ถ.พัฒนาการ ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีหัวหมาก
12. สถานีกลันตัน ตั้งอยู่บริเวณหน้าธัญญา พาร์ค
13. สถานีศรีนุช ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.สุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ และ ซ.อ่อนนุช 60
14. สถานีศรีนครินทร์ 38 ตั้งอยู่บริเวณ ซ.ศรีนครินทร์ 38, ซ.ศรีนครินทร์ 43 และ ซ.ศรีนครินทร์ 45
15. สถานีสวนหลวง ร.9 ตั้งอยู่บริเวณห้างซีคอน ศรีนครินทร์ และพาราไดซ์ พาร์ค, ซ.ศรีนครินทร์ 42, ซ.ศรีนครินทร์ 51 และ ซ.ศรีนครินทร์ 53

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 23 สถานี

16. สถานีศรีอุดม ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.อุดมสุข ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์ และ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9, ซ.ศรีนครินทร์ 54, ซ.ศรีนครินทร์ 56, ซ.ศรีนครินทร์ 58 และ ซ.ศรีนครินทร์ 63
17. สถานีศรีเอี่ยม ตั้งอยู่บริเวณวัดศรีเอี่ยม มีอาคารจอดแล้วจร
18. สถานีศรีลาซาล ตั้งอยู่บริเวณแยก ถ.ลาซาล ตัดกับ ถ.ศรีนครินทร์
19. สถานีศรีแบริ่ง ตั้งอยู่บริเวณถนนเชื่อมระหว่าง ถ.ศรีนครินทร์ กับ ถ.แบริ่ง, ซ.ศรีด่าน 11, ซ.ศรีด่าน 13, ซ.ศรีด่าน 16
20. สถานีศรีด่าน ตั้งอยู่ใกล้ ซ.ศรีด่าน 2

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นรถโมโนเรล

21. สถานีศรีเทพา ตั้งอยู่บริเวณ ซ.อรรถสิทธิ์ และ ซ.ร่วมจิตพัฒนา
22. สถานีทิพวัล ตั้งอยู่บริเวณปาล์มไอส์แลนด์ มอลล์, ถ.ประดิษฐ์สโมสร
23. สถานีสำโรง ตั้งอยู่บริเวณแยกเทพารักษ์-สุขุมวิท, ซ.เทพารักษ์ 2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสำโรง

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มี 4 สถานีที่เชื่อมต่อระบบรางในเส้นทางอื่นผ่านรถไฟฟ้า 4 สาย ดังนี้

  1. สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) ที่สถานีลาดพร้าว
  2. สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีลำสาลี
  3. สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์  ที่สถานีหัวหมาก
  4. สถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟส่วนต่อขยายสายสีเขียว (BTS) ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง

บัตร EMV ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นหนึ่งในโครงการที่มีข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานที่จำเป็นต้องติดตั้งระบบตั๋วร่วม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อระบบรางอย่างสะดวก โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้มีการติดตั้งระบบ EMV Contactless รองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ EMV (Europay, MasterCard and VISA)

นอกจากนี้ ยังสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยบัตรแรบบิทในเครือ BTS ซึ่งจะมีการจัดทำโปรโมชันราคาพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนการเดินทางมาใช้บริการรถไฟฟ้า ทั้งนี้ สามารถออกบัตรโดยสารดังกล่าว ณ ตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร และห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสาร 15-45 บาท

โดยรูปแบบการชำระค่าโดยสารในเบื้องต้น หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการชำระค่าโดยสารด้วยการใช้บัตร EMV เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในจำนวนประมาณ 15 บาท

โดยหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 600 บาท คำนวณจากค่าแรกเข้าที่ถูกลดหย่อนจากการเดินทางวันทำงานไปกลับจำนวน 30 บาทต่อวัน

ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่าอาจจะเริ่มการจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติอัตราค่าโดยสารจาก รฟม.และการออกประกาศกำหนดใช้ต่อไป