สายเขียว กระอัก! ธุรกิจ 1.2 หมื่นแห่งสะดุด ล่าล้านรายชื่อต้านกลับยาเสพติด

15 มิ.ย. 2566 | 07:00 น.
556

นโยบายตีกลับ “กัญชา” สู่ยาเสพติดป่วน หวั่นกระทบผู้ประกอบการ 1.2 หมื่นแห่ง “นักวิชาการ” ออกโรงต้านสุดตัว ชี้เอื้อกลุ่มทุนยารายใหญ่ “เครือข่ายกัญชาฯ” เดินหน้าล่าล้านรายชื่อยื่นค้าน หากฝืนพร้อมระดมมวลชนลงถนน

หลังปลดล็อก “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตัวเลขมูลค่าตลาด “กัญชา” ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567 แบ่งเป็นกัญชาทางการแพทย์กว่า 7,000 ล้านบาท และกัญชาเพื่อสันทนาการกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท จากการบริโภคของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 แต่ดูเหมือนความเส้นทางของ “กัญชา” จะสะดุดเมื่อรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายผลักดันให้ “กัญชา” กลับสู่บัญชียาเสพติด แม้วันนี้จะยังไม่มีความชัดเจนเพราะอยู่ในช่วงของการรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็สร้างความหวาดผวาให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ยื่นขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีอยู่กว่า 1.2 หมื่นแห่ง

นักวิชาการมองเอื้อบิ๊กทุนยา

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ผู้ใช้กัญชาที่ไม่ได้เกิดจากการสั่งจ่ายโดยแพทย์จะกลับมาเป็นอาชญากรอีกครั้ง คนที่ปลูกไว้หน้าบ้านจะกลายเป็นผู้ผลิตยาเสพติด ผู้ครอบครองยาเสพติดและเกิดความสุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถใช้กัญชารักษาด้วยตัวเองได้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่พูดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดจะต้องใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับเดียวเท่านั้น

สายเขียว กระอัก! ธุรกิจ 1.2 หมื่นแห่งสะดุด ล่าล้านรายชื่อต้านกลับยาเสพติด

หากบอกว่าอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้นก็จะต้องรอหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้นคือมีการทดลองทั้งในสัตว์และมนุษย์ มีการแยกสารสำคัญเชิงเดี่ยวที่มาจากโรงงานขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่าจะต้องมาพร้อมสิทธิบัตรยา มาพร้อมกับยาราคาแพงที่ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ผลลัพธ์คือกัญชาเหล่านี้จะถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนบริษัทยายักษ์ใหญ่และกลุ่มทุนทางการแพทย์ที่ได้ค่าคอมมิชชั่นเพื่อประโยชน์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะนัยยะสำคัญที่สุดคือมีความหมายซ่อนความระหว่างบรรทัดว่าจะต้องจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์ที่จะจ่ายยานั้นเป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่ด้านหนึ่งอาจจะพยายามไม่จ่ายกัญชาเพราะเสียประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นในยาแผนปัจจุบันต่างๆ

อีกด้านหนึ่งยาสิทธิบัตรต่างชาติจะมีราคาแพง ทำให้หมอหรือกลุ่มทุนหมอหรือกลุ่มบริษัทยายักษ์ใหญ่จะได้ประโยชน์อยู่แค่กลุ่มคนไม่กี่คน ซึ่งตรรกะตรงนี้ไปไกลกว่านั้นเพราะในช่วงที่ปลดล็อคออกจากยาเสพติดผลิตภัณฑ์กัญชาได้รับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสามารถแยกสารอันตรายออกไป เหลือไว้แต่สารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 3,000 รายการ

สายเขียว กระอัก! ธุรกิจ 1.2 หมื่นแห่งสะดุด ล่าล้านรายชื่อต้านกลับยาเสพติด

แนะแก้ไขพ.ร.บ.ฯ เพิ่มโทษหนัก

บางรายมีการจับมือระหว่างกันโรงงานในประเทศญี่ปุ่นในลักษณะหุ้นส่วนกับบริษัทในไทยเพื่อเพื่อเตรียมส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 20 รายคาดว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่าถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก ผู้ประกอบการไทยจะไม่สามารถนำกัญชามาใช้ในอาหารหรือในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะเสียหายไปในท้ายที่สุดนี่คือสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ

“หากเดินหน้าเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจริงอันดับแรกคงมีการประท้วงเพราะมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง ทั้งประชาชนปลูกเพื่อพึ่งพาตัวเองรวมถึงร้านขายกัญชา แต่สิ่งที่น่าสงสารกว่าคือผู้ป่วยหรือเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับอย.คนเหล่านี้จะต้องออกมาเคลื่อนไหวให้เกิดการทบทวนเพราะสิ่งที่ควรทำไม่ใช่การกลับเอาไปเป็นยาเสพติดอีก

เพราะร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ของสภาชุดที่แล้วร่างเสร็จหมดแล้ว หลังจากปรับปรุงแก้ไขจากทุกพรรคการเมือง ก้าวไกลสามารถนำมาปรับฝุ่นถ้าคิดว่าโทษน้อยไปก็ไปเพิ่ม และออกกฎหมายเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ของกัญชาอย่างรอบด้านและมีการควบคุมทั้งระบบ มีบทลงโทษในสิ่งที่สังคมกังวลให้หนัก หนทางนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่าเอากลับไปเป็นยาเสพติด”

ล่าล้านรายชื่อยื่นค้าน

นายอัครเดช ฉากจินดา แกนนำเครือข่าย “เขียนอนาคตกัญชาไทย” กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และใช้กฎหมายยาเสพติด สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านที่มีกัญชาแม้จะเพียงต้นเดียวในบ้านก็ผิดกฎหมาย และกลายเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกดขี่ รังแกหรือขูดรีด

รวมถึงกลุ่มที่มีการลงทุนหรือรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมาย กว่าจะเดินหน้ามาจนถึงปัจจุบันอย่างยากลำบาก จนได้มาตรฐานตามที่กำหนด เมื่อกลับไปเป็นยาเสพติดกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ก็คือกลุ่มทุนใหญ่ๆที่มีกำลังมากพอที่จะทำระบบปิดหรือสร้างผลิตภัณฑ์ออกมา

สายเขียว กระอัก! ธุรกิจ 1.2 หมื่นแห่งสะดุด ล่าล้านรายชื่อต้านกลับยาเสพติด

“หากบอกว่าเอากลับไปเป็นยาเสพติดก่อน แล้วค่อยหามาตรการมาควบคุม มันย้อนแย้งเพราะทันทีที่ประกาศชาวบ้านที่มีกัญชาเพียงต้นเดียวหน้าบ้านก็ครอบครองยาเสพติด ผิดกฎหมายซึ่งตรงนี้อันตรายมาก ส่วนร้านที่ขายกัญชาได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกฎหมายหรือพ.ร.ก.ต่างๆก็สามารถจัดการควบคุมได้ เพียงแต่ว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง”

ทั้งนี้ในวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีปลดล็อคกัญชาไทย มีการลงรายชื่อเพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับไปสู่ยาเสพติด

โดยเครือข่ายฯ จะรวบรวมรายชื่อที่รวบรวมให้ได้มากที่สุดโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1 ล้านรายชื่อไปยื่นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยและถ้ายังดึงดันที่จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆก็คงจะต้องมีการจัดชุมนุม มีการลงถนนแน่นอน เพราะจริงๆปัญหานี้ง่ายนิดเดียวแค่มีเวทีที่ทุกฝ่ายได้มาถกและแถลงร่วมกันไม่ใช่ไปอ้างผ่านสื่อหรืออ้างอยู่ฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเห็นหน้ารัฐบาลใหม่ก่อนเพราะไม่แน่ใจว่าก้าวไกล-เพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่”

เบรกลงทุนรอความชัดเจน

ด้านนายพงษ์สกร ดำเนิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานธุรกิจพลังงานและกัญชงกัญชา บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนของนโยบายที่จะออกมาก่อนที่จะทำอะไรเพิ่มเติม โดยขณะนี้บริษัทชะลอการขยายกิจการและติดต่อกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ รวมทั้งทำมาตรฐานต่างๆให้ได้มาตรฐานโลกเช่น GACP เตรียมไว้ล่วงหน้า

พงษ์สกร ดำเนิน

เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาหากสามารถเดินหน้ากัญชาต่อไปได้ บริษัทก็สามารถดำเนินการต่อไปทันที ซึ่งบริษัทพัฒนาสินค้าใหม่ 2-4 รายการ เช่น แคปซูล, เจลลี่กัมมี่ CBD ฯลฯ แล้วแต่ต้องชะลอการทำตลาดไปก่อน เพราะกลัวว่าถ้าเปิดตัวไปแล้วกฎหมายไม่รองรับก็อาจจะมีความเสี่ยง แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีความชัดเจนมากขึ้น บริษัทก็พร้อมจะปล่อยสินค้าพวกนี้ออกสู่ตลาดทันที

บล.ยันไร้ผลกระทบราคาหุ้น

ขณะที่นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลจะนำ"กัญชา" ตีกลับไปเป็นยาเสพติด เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มนี้เท่าไร  เพราะนักวิเคราะห์ไม่ได้ใส่ปัจจัยเชิงบวกในเชิงธุรกิจนี้ ที่จะก่อให้เกิดกำไรอย่างมีนัยยะสำคัญ  อาจจะด้วยเรื่องของธุรกิจที่ทำได้ช้า ความสามารถในการทำกำไรที่ไม่ชัดเจน

"จะเห็นว่าช่วงหลัง หุ้นกลุ่มนี้ความหวือหวาลดน้อยลงตามลำดับ ตามผลประกอบการที่ไม่ได้แรงหนุนจากกัญชง กัญชา เหมือนกับที่คนเคยคาดหวังไว้ในช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 64 ที่นายอนุทิน (รมต.สาธารณสุข)จะผลักดัน ราคาหุ้นในช่วงนั้นพุ่งปรี๊ดอยู่ 6 เดือน  แต่ผ่านไปได้ปีกว่า ตลาดชักไม่แน่ใจว่า

สิ่งที่เขาคาดหวังไปจะเทิร์นกลับมาเป็นกำไรได้เร็วไหม ที่เห็นได้ชัด อาทิ หุ้น บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD ) เล่นอยู่ 3-6 เดือนของปี 64 แต่ปี 65 ก็ลงทั้งปี (DOD ราคาหุ้นปี 64 อยู่ที่ 11.17 บาท ล่าสุด 9 มิ.ย.อยู่ที่ 4.04 บาท )  หุ้นอื่น ๆในกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะตีกลับไปเป็น"ยาเสพติด" เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อราคา "