“ชัชชาติ” ประสานหน่วยงานเเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน

14 มิ.ย. 2566 | 11:56 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 12:04 น.

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เร่งเดินหน้าจัดระเบียบสื่อสารลงใต้ดิน เตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช.-การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อปรับภูมิทัศน์

ความคืบหน้า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีแผนดำเนินงานนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินในปี 2566 จะสอดคล้องกับแผนงานของ กสทช. กฟน. กฟภ. กทม. เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์

โดยแผนงานโครงการปรับเปลี่ยนสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครอาเซียน จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง ประมาณ 127 กม. โดยมีแผนที่จะดำเนินการในปี 2566 เช่น ถนนอังรีดูนังต์ ถนนหลังสวน ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์ เป็นต้น

ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดการเรื่องสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กทม. ยังคงเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารต่อเนื่อง โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เพียงกทม. ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นการประสานงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมี พ.ร.บ. แยกออกมา โดย กสทช. เป็นผู้จัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ

สำหรับ กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ สามารถเสนอเส้นทางได้ , การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งอนุญาตให้พาดสายสื่อสารบนเสา และเป็นผู้ดำเนินการหักเสานำสายไฟฟ้าลงดิน , ผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องดำเนินการทำตามที่ กสทช. กำหนด และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ผู้ให้บริการท่อร้อยสายสื่อสาร และดำเนินการวางท่อร้อยสายสื่อสาร

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. มีการหารือกับหน่วยงานดังกล่าวอยู่หลายครั้ง เพื่อประสานงานในการจัดเบียบสายสื่อสาร ซึ่งเบื้องต้นต้องเริ่มจากการตัดสายสื่อสารเก่าก่อน เพื่อทำให้จำนวนสายสื่อสารน้อยลง เหลือเพียงสายที่ยังใช้งานอยู่ หลังจากนั้นจึงเริ่มทยอยนำลงดิน

ส่วนโครงการเก่าของกทม. ที่ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ดำเนินการ หลายคนเข้าใจว่าไม่ได้ใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ฟรี เพราะโครงการ KT นำสายสื่อสารลงดิน 2,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าท่อที่ KT คิดกับผู้ประกอบการอยู่ที่ประมาณ 7,100 บาท/กิโลเมตร/เดือน ส่วนค่าเช่าท่อของ NT ซึ่งมีท่ออยู่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 3,216 บาท/กิโลเมตร/เดือน

ทั้งนี้ KT ได้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินไปแล้ว 9.9 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งทับซ้อนกับท่อของ NT แต่ KT หาลูกค้าไม่ได้

 ดังนั้น การจะนำโครงการมาดำเนินการต่อจึงต้องคิดให้ดี เพราะไม่จำเป็นต้องมีโอเปอเรเตอร์ที่ทำท่อหลายราย การดำเนินการต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะสุดท้ายค่าเช่าเหล่านี้ประชาชนเป็นคนจ่าย  ดังนั้น กทม. จึงมีแนวคิดยุติการดำเนินการ เนื่องด้วยต้นทุนสูง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจบังคับผู้ให้บริการมาใช้ท่อ ค่าเช่าท่อแพง แต่หากเป็นไปได้ก็ให้ NT ทำ เพราะ NT มีท่ออยู่แล้ว ต้องพยายามคุยกันหาทางออก ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันกับหลายหน่วยงาน โดย กสทช. เป็นผู้วางแผนหลัก

 สำหรับการดำเนินการที่ กสทช. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงดินนั้น เสร็จไปแล้ว 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่การไฟฟ้าดำเนินการหักเสาลงดิน ซึ่งยังดำเนินการได้ไม่มาก เนื่องจากการนำสายไฟฟ้าลงดินมีราคาสูงมาก ต้องใช้งบประมาณกว่าหลักพันถึงหมื่นล้าน ดังนั้น หากการไฟฟ้าหักเสาเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดิน ก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย แต่การจะนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมดเป็นพันกิโลเมตร การไฟฟ้าทำไม่ได้เพราะราคาสูงมาก.