ก.ค.นี้ “ชัชชาติ” ชงสภากทม.เคาะล้างหนี้สายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท

12 มิ.ย. 2566 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2566 | 13:57 น.

“ชัชชาติ” ถก บีทีเอส สางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท เล็งชงสภากทม.ไฟเขียวภายในเดือนก.ค.นี้ ลุ้นมหาดไทยตอบหนังสือกลับ 3 ประเด็น อุดหนุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน-โอนหนี้ส่วนต่อขยาย หลังหนี้พุ่งแตะ 5 หมื่นล้านบาท

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มิ.ย.2566)ได้เชิญนายคีรี กาญจนพาสจน์ ประธานกรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เบื้องต้นจากการหารือในครั้งนี้ ทางกทม.จะขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากครบกำหนดชำระแก่เอกชนแล้ว โดยจะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ก.ค.นี้ “ชัชชาติ” ชงสภากทม.เคาะล้างหนี้สายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท

 “ที่ผ่านมากทม.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกทม.ศึกษาและประชุมมาแล้ว 5 ครั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความรอบคอบ คาดว่าเปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร”

นอกจากนี้กทม.ได้มีการทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐานของโครงการฯ และค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เพราะตามกฎหมายมาตรา 44 ของคสช. มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้มีการให้งบประมาณแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทำให้กทม.มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการ

ก.ค.นี้ “ชัชชาติ” ชงสภากทม.เคาะล้างหนี้สายสีเขียว 2 หมื่นล้านบาท

2.มูลหนี้หนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะถูกหับลบด้วยสัญญาสัมปทาน ปัจจุบันเรื่องนี้ยังค้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.การโอนหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งกทม.ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หากรับโอนมาจะกลายเป็นภาระ

นายคีรี กาญจนพาสจน์ ประธานกรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระยะกว่า 4 ปีแล้ว ที่เอกชนรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้ถึงกำหนดที่กทม.ต้องชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้แก่บริษัทแล้ว ทราบว่าภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสภากทม.พิจารณาได้

 

 “บริษัทมีความมั่นใจขึ้นว่าจะได้รับการชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่มากที่อยู่ในม.44 ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าครม.รักษาการชุดนี้จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่แย้งในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันเขาไม่อยู่แล้ว ผมคิดว่าอาจจะมีความเข้าใจดีขึ้น หากรัฐบาลรักษาการจะทำให้เรื่องนี้จบ ผมยืนมาได้ 4 ปี แต่ไม่สัญญาว่าเมื่อไรจะหยุดเดินรถ ที่ผ่านมาเราเป็นเอกชนรายแรกที่ให้บริการรถไฟฟ้าถึงแม้ว่ามีปัญหา แต่ผมยังเปิดเดินรถด้วยความเต็มใจ ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่ากทม.จะดำเนินการให้เร็วที่สุด”

 

สำหรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันที่ภาครัฐค้างชำระแก่บริษัท ดังนี้ 1.หนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 22,000 ล้านบาท 2.หนี้ค่าจ้างดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 30,000 ล้านบาท รวมยอดหนี้ 50,000 ล้านบาท