“ชัชชาติ” เปิดผลงานปี 66 รุก 226 นโยบาย ปลุกเศรษฐกิจกทม.

13 มิ.ย. 2566 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 12:21 น.

“ชัชชาติ” เปิดผลดำเนินงานปี 66 ดัน 226 นโยบาย หลังได้งบจัดสรร 5 พันล้านบาท เร่งสางปัญหาโครงการเส้นเลือดฝอย-เศรษฐกิจ ช่วยเหลือชุมชน อุ้มชาวกทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในการแถลงข่าว “ 365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ภายใต้เป้าหมายสู่การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน..หนึ่งปีที่ผ่านมาของกทม. ในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง ว่า ปัจจุบันกทม.ได้เพิ่มนโยบายการทำงานเป็น 226 นโยบาย

จากเดิมนโยบายที่หาเสียงอยู่ที่ 216 นโยบาย โดยมี 211 นโยบายที่ดำเนินการแล้ว มี 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนอีก 4 นโยบายที่ยุติการดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 2566 กทม.ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 5,024 ล้านบาท เพื่อดำเนินการสู่โครงการเส้นเลือดฝอย แบ่งเป็น ปรับปรุงถนน ตรอก ซอย และสิ่งสาธารณประโยชน์ 4,435 ล้านบาท ขุดลอกคูคลอง 437 ล้านบาท ล้างทำความสะอาดท่อ 152 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชน จัดทำงบประมาณแบบ Zero Base Budgeting มีมูลค่างบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีการทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานกวาด 9,079 คน ส่วนที่ดินในกทม.มีการประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีแล้ว 99.42% และมีการยกเลิกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร 11 ฉบับ
 

ด้าน 5 แนวคิดการทำงานใน 1 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ 1.การผลักดันโครงการขนาดใหญ่เชื่อมโยงการพัฒนาเส้นเลือดฝอย 2.เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูล เช่นการรับแจ้งปัญหาผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยพนักงานกทม.สามารถตรวจสอบความพร้อมใช้สาธารณูปโภคเมืองเชิงรุก ,การขอใบอนุญาตออนไลน์ ฯลฯ 4.การสร้างความโปร่งใสในการทำงาน 5.การร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมือง

ทั้งนี้จากงบประมาณเฉลี่ยนของกทม. ในปี 62-66  แบ่งเป็น รายจ่ายประจำพื้นฐาน 46,847 ล้านบาท คิดเป็น 59% รายจ่ายประจำและรายจ่ายผูกพัน คิดเป็น 77% ของงบประมาณกทม.ประจำปี โครงการงบลงทุนนโยบายผู้บริหาร 18,555 ล้านบาท รายการผูกพัน 14,016 ล้านบาท คิดเป็น 18% คาดว่าในปี 67 จะมีรายการผูกพัน 18,959 ล้านบาท 
 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกทม.มีแผนดำเนินการทบทวนรถโดยสาร BRT พิจารณาการดำเนินโครงการ โดยปรับรูปแบบสถานี,เพิ่มความถี่การให้บริการบางช่วง,ปรับเป็นช่องจราจรร่วม,ปรับเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนและลดค่าบริหารจัดการ ทั้งนี้สิทธิเดินรถของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในโครงการฯจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ส.ค.นี้

เบื้องต้นหลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้ว ในระยะสั้นภายในเดือนส.ค.66-ปลายปี 2567 กทม.จะจ้างเดินรถเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดความถี่บางช่วงของเส้นทาง เพื่อเพิ่มความถี่ในบางช่วงแทน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเดินรถรูปแบบใหม่ตามผลการศึกษาภายในเดือนส.ค. 67

ส่วนนโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการของกทม. เช่น

 1.การออกแบบเรื่องราวให้เมืองผ่าน Digital Experience Economyโดยขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผลักดัน Hi-Tech และ Hi-Touch ปัจจุบันอยู่ระหว่างกําลังพิจารณาตั้งทีมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจเมือง เศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะเจาะจง

 2.การพัฒนาป้ายท่องเที่ยวกรุงเทพฯขนาดเหมาะสม ข้อมูลถูกต้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสํารวจตําแหน่งป้ายเดิม ,ตําแหน่งตั้งป้ายใหม่ที่มีศักยภาพ ,ลักษณะของพื้นที่ เพื่อเลือกรูปแบบป้ายที่เหมาะสม และกําหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 โดยกำหนดแนวทางการออกแบบข้อมูลและรูปแบบป้าย พร้อมการหาความร่วมมือด้านเนื้อหากับภาคีเครือข่าย 3.สนับสนุนศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในกรุงเทพฯหน้าที่รับผิชอบ ซึ่งจะมีการจัดเสวนากับ JETRO เกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในวันที่ 27 มิ.ย. 2566