รฟม.โต้ รสนา ปมเวนคืนที่ดินสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างสายสีม่วงใต้

09 มิ.ย. 2566 | 16:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 16:15 น.

รฟม.แจงปม เวนคืนที่ดิน ทางขึ้น – ลง ที่ 1 สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ยันดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย สอดรับตามมติกรมศิลปากร

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงกรณี นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล กรณี รฟม. เวนคืนอาคาร 7 คูหา ริมถนนพระสุเมรุ เพื่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)โดยอธิบดีกรมศิลปากรยังไม่อนุญาต ว่า 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ต่อมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติรับทราบมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการให้ความเห็นชอบรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งได้ระบุการใช้อาคาร 7 คูหาดังกล่าว เป็นทางขึ้น - ลง สถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ผ่านฟ้า) ตามขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนโครงการฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

จากนั้นรฟม.ได้ดำเนินการภายใต้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563 ซึ่ง รฟม. ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงผู้เช่าให้ความร่วมมือตลอดการดำเนินงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ล่าสุด ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบริเวณดังกล่าว ให้แก่ กิจการร่วมค้า CKST - PL เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องตามมติคณะทำงานพิจารณาและติดตามการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ของกรมศิลปากร ซึ่งกิจการร่วมค้า CKST - PL ได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการสำรวจทางกายภาพ

การดำเนินการดังกล่าวได้มีการประสานงานกับกรมศิลปากรอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบทางโบราณคดีที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน และศึกษารายละเอียด รวมถึงตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 กรมศิลปากร รฟม. และกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ซึ่ง รฟม. และที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1 (PMCSC1) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงการเลือกตำแหน่งและแนวทางในการอนุรักษ์อาคารเก่าที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างทางขึ้น – ลง ที่ 1 ของสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้แก่นางสาวรสนาฯ กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์

ที่ประชุมทราบถึงที่มา เหตุผล และความจำเป็น ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามผลการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การสำรวจ และออกแบบกรอบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบต่อตึกแถวที่อยู่ข้างเคียง และฐานป้อมมหาปราบ ริมถนนพระสุเมรุ แล้ว
  รฟม.โต้ รสนา ปมเวนคืนที่ดินสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างสายสีม่วงใต้
ด้านทางเทคนิคและข้อจำกัดของพื้นที่ รฟม. มีความจำเป็นต้องออกแบบและก่อสร้างสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) ที่เชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ศึกษาและกำหนดตำแหน่งสถานีไว้ ตามแนวถนนพระสุเมรุและถนนราชดำเนินกลาง จึงจำเป็นต้องวางตำแหน่งสถานีร่วมทั้งสองสถานีให้เชื่อมต่อกันและไม่สามารถขยับตำแหน่งสถานีออกไปได้นั้น ไม่ได้เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในด้านอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด

 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการออกแบบ รฟม. ได้ประสานขอความเห็นชอบตำแหน่งสถานีและทางขึ้น - ลง จากคณะกรรมการฯ ชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กรมศิลปากร เป็นต้น รวมถึงได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆ ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562
 
สำหรับการกำหนดตำแหน่งทางขึ้น - ลง ที่ 1 นอกจากจะใช้เป็นทางขึ้น - ลง แล้ว ยังใช้เป็นทางอพยพหนีภัย สำหรับผู้ใช้บริการหากเกิดอัคคีภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งการกำหนดให้มีทางขึ้นลงสถานี 4 ตำแหน่ง เป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัย (NFPA 110) และมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย (NFPA 130) รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและต้องอพยพผู้โดยสารออกจากสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ รฟม. ยังคงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ของอาคาร 7 คูหา ริมถนนพระสุเมรุดังกล่าว
 
ทั้งนี้ รฟม. ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินงานก่อสร้างและแนวทางในการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ซึ่ง รฟม. จะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยหลีกเลี่ยงการรื้อทำลายอาคาร 7 คูหา ริมถนนพระสุเมรุ และจะดำเนินงานตามแนวคิดในการอนุรักษ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษา โดยได้มีการสำรวจ การวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของอาคาร ตลอดจนการรื้อย้ายเพื่อนำไปจัดเก็บตามเทคนิควิธีที่เหมาะสมก่อนจะนำกลับมาบูรณะและปฏิสังขรณ์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเดิมของอาคารเก่าดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

 

ส่วนอาคาร 2 คูหา มาจัดแสดงประวัติของอาคารริมถนนพระสุเมรุ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและบริบทพื้นถิ่นต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปตามที่ได้หารือกับกรมศิลปากร และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโบราณคดีเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานในทุกๆ ขั้นตอน จะเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการ ตลอดจนสามารถก่อให้เกิดการส่งเสริมการใช้งานภายในอาคารส่วนที่อนุรักษ์ไว้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรอยู่ระหว่างพิจารณาเห็นชอบในรายละเอียดต่อไป
 
“ขอยืนยันว่า รฟม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยให้ความสำคัญทั้งในเชิงเทคนิคและความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในการให้บริการต่อประชาชน เพื่อให้การบริการขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ควบคู่กับการออกแบบเชิงอนุรักษ์เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นถิ่นและประวัติศาสตร์ดั้งเดิม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบนพื้นฐานการธำรงไว้ซึ่งรูปแบบเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่าน ”