รัฐผนึกเอกชน บูม"ท่าเรือกันตัง" หนุนส่งออกปีละ 3 หมื่นล้าน

09 มิ.ย. 2566 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 09:44 น.

นายกเทศมนตรี ปัดฝุ่นท่าเรือกันตัง ดันรายได้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ขณะเอกชนหวังส่งออกตรังบูมอีกครั้ง ด่านศุลกากรกันตัง เผยมูลค่านำเข้า-ส่งออก พุ่งปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปี 65 มูลค่า 14,536 ล้านบาท

นายสรนนท์  จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบการส่งออกและนำเข้าสินค้าท่าเรือเทศบาลเมืองกันตังและท่าเรืออื่น แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศ กลับมาใช้บริการท่าเรือกันตังอีกครั้ง เพราะท่าเรือแห่งนี้มีด้วยกัน 3 สะพาน ความยาวประมาณ 300 เมตร เรือบาสสามารถจอดได้พร้อมกัน 3 ลำในเวลาเดียวกัน

นายสรนนท์  จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง

 จุดเด่นท่าเรืออยู่ในเขตเทศบาล สะดวกสบาย ขนถ่ายสินค้าได้ 24 ชั่วโมง อยู่ใกล้ด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร ทางเทศบาลหวังให้ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าสินค้ามาใช้บริการท่าเรือเทศบาลต่อไปอีก ทางเทศบาลจะปรับปรุงท่าเรือให้มีความพร้อมที่จะรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ดีขึ้น สำหรับสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ จะมีความสะดวกมากหากเข้ามาใช้บริการ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ 

 

นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้สินค้าจะผ่านท่าเรือกันตังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวเลขรายได้จากท่าเรือปี 2559 มีรายได้ 10,266,713.20 บาท ในปี 2563 รายได้ 57,149.80 บาท เป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด รายได้ลดลง อย่างเห็นได้ชัด 

รัฐผนึกเอกชน บูม"ท่าเรือกันตัง" หนุนส่งออกปีละ 3 หมื่นล้าน

นายบุญชู  ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงเลื่อยไม้ยางพาราที่ส่งออกสินค้าไปจีน จะส่งออกผ่านท่าเรือกันตังประมาณเดือนละ 2,300-2,800 ตู้ จากท่าเรือกันตังขนสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง มาเลเซีย  ก่อนที่จะไปประเทศปลายทาง ส่วนมากคือจีน ก่อนหน้านี้จะส่งออกมากกว่านี้  แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อและเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจดี สินค้าจากไทยก็ขายดี ศักยภาพของท่าเรือกันตังรองรับสินค้าได้เฉพาะสินค้าตู้แห้ง หรือ สินค้าเทกอง

ในส่วนของโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง จะส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งเป็นตู้เย็น ลบ 18 องศา จากโรงงานที่จังหวัดตรังไปยังท่าเทียบเรือสงขลา ผ่านพิธีการศุลกากรสงขลา เพื่อไปประเทศปลายทางคือ ท่าเรือเมืองเซี่ยงไฮ้  ประเทศจีน  และท่าเรือโอซาก้า หรือ โกเบ ประเทศญี่ปุ่น เดือนละ 50-60 ตู้  หากลูกค้าสั่งสินค้าเร่งด่วนก็จะส่งทางเครื่องบิน จากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังประเทศญี่ปุ่น

นายบุญชู  ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ ด่านศุลกากรกันตัง ซึ่งดูแลควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร มีท่าเรือในความดูแล 4 แห่ง คือท่าเรือเทศบาลเมืองกันตัง ท่าเรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และท่าเรือ บริษัทยุโสบอินเตอร์เนชั้นแนล  กันตังพอร์ต จำกัด  และท่าเรือ  บริษัทโชคชัยกันตังพอร์ต จำกัด ที่ยังเปิดกิจการรับขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ  

สินค้านำเข้า เช่น ถ่านหิน ปุ๋ยเคมี ข้าวโพดอาหารสัตว์ ปลาแช่แข็งและสินค้าอื่นๆ ส่วน สินค้าส่งออก ผลิตภัณฑ์ยางพารา(น้ำยางข้น, ยางแท่ง, ยางแผ่นรมควัน) ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ ไม้ยางพาราแปรรูป เศษไม้ยางพาราอัดเม็ด ปูนซิเมนต์อัดเม็ด ปูนซิเมนต์บรรจุถุง แร่ยิปซั่ม,แร่โซเดี่ยมเฟลสปาร์ และสินค้าอื่น ๆ สินค้าที่นำเข้าและส่งออกส่วนใหญ่ประเทศในเอเซีย สินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์จะไปเปลี่ยน
ขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือปีนัง มาเลเซีย เพื่อเดินทางไปยังประเทศปลายทาง

ส่วนสถิติสินค้าผ่านท่าเทียบเรือต่างประเทศกันตัง มูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกสูงปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ต่ำสุด 5 พันกว่าล้านบาท ล่าสุด ปี 2565 มูลค่า14,536 ล้านบาท