คมนาคม ขีดเส้นตาย 15 วัน สั่งคณะกรรมการเอาผิด ปมจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก

30 พ.ค. 2566 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2566 | 14:02 น.

“คมนาคม” สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปมผู้ประกอบการติดสินบนเจ้าหน้าที่จ่ายส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก เล็งสรุปผลรายงานภายใน 15 วัน ยันพบความผิดสั่งเอาผิดตามกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับกรณีการจ่ายเงินของผู้ประกอบการรถบรรทุกเพื่อซื้อสติกเกอร์ที่มีลักษณะพิเศษจากนายหน้า สำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่ารถบรรทุกที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าวมีการจ่ายเงินเพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดเส้นทางของการขนส่งแล้ว ทำให้รถบรรทุกข้างต้นสามารถเดินทางและประกอบกิจการขนส่งของตนโดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น เนื่องจากด่านชั่งน้ำหนักตามเส้นทางต่าง ๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาจส่งผลให้ประชาชนอาจเกิดความสงสัยในความโปร่งใสของการปฏิบัติงานของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงฯ จนอาจกระทบถึงภาพลักษณ์โดยรวมนั้น 

 

“กระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะชน โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานกรรมการ” 
 

ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากรณีดังกล่าวมีมูลเป็นความจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด โดยให้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (31 พฤษภาคม 2566) หากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

 

“กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนและตรวจสอบทุกประเด็นด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ ต่อไป”
 

นอกจากนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามความจำเป็น และเหมาะสม สามารถเชิญบุคคลหรือผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ รวมถึงเรียกเอกสาร พยานหลักฐานต่าง ๆ จากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตรวจสอบได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมถึงจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ต่อไปด้วย