อุตฯก่อสร้างประเมินค่าแรง450 กลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์คือแรงงานต่างด้าว

28 พ.ค. 2566 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2566 | 08:56 น.
792

เสียงสะท้อนอุตสาหกรรมก่อสร้างประเมินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน กลุ่มหลักที่จะได้ประโยชน์คือแรงงานต่างด้าว ขณะที่ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ห่วงปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศจะทำให้บางจังหวัดขาดแคลนแรงงานหนัก แนะรัฐบาลใหม่หารือเอกชนก่อนเดินหน้านโยบาย

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลมีนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท ว่า ที่ผ่านมาจากการหาเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลมักจะมีนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ทุกประเภท เบื้องต้นควรมีการหารือร่วมกับภาคธุรกิจและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาในภาคธุรกิจ

“เรามีการพูดถึงค่าแรง แต่ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นอื่นเลย ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจจะดีขึ้นขนาดไหน ที่ผ่านมาสมาคมฯได้มีการหารือกับผู้รับเหมาในเรื่องนี้มาโดยตลอด  ซึ่งทางสมาคมฯอยู่ระหว่างดูนโยบายจากการจัดตั้งรัฐบาลก่อนว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร”

อุตฯก่อสร้างประเมินค่าแรง450 กลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์คือแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ทางสมาคมฯจะมีการเข้าหารือและชี้แจงถึงรัฐบาลใหม่ในอนาคตได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการขึ้นค่าแรง 450 บาท นั้นมองว่าคนที่ได้ประโยชน์หลักอาจจะเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว เมื่อมีกระแสข่าวถึงการขึ้นค่าแรง ทำให้ค่าครองชีพต่างๆมีการปรับขึ้นก่อนแล้ว ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่ารายได้ที่เข้ามาสนับสนุนภาคธุรกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการขาดแคลนแรงงาน เพราะกลุ่มแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้มีการจ้างงานกว่า 4 ล้านคน พบว่าปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทางสมาคม,ผู้รับเหมา ผู้ประกอบการ SME ยังมีความกังวลว่า ถึงแม้ไม่การขึ้นค่าแรงก็ไปต่อไม่ไหวแล้ว หากมีการขึ้นค่าแรง อาจจะหนักขึ้นอีก

นางสาวลิซ่า กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรมีการหารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ลูกจ้าง,นายจ้างและภาครัฐ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นค่าแรง 5% ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนั้นถือว่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ 450 บาท จะเป็นการปรับขึ้นในลักษณะใด และจะเป็นการปรับขึ้นทั่วประเทศหรือปรับขึ้นทุกจังหวัดเท่ากันหรือไม่

“ในอดีตที่ผ่านมาสมาคมฯไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เกิดการไหลของแรงงาน บางจังหวัดที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานก่อสร้างมาก อาจทำให้แรงงานไม่ทำงานในพื้นที่นั้นๆ เพราะหากแรงงานอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของเขาก็สามารถได้ค่าแรงเท่ากัน ซึ่งจะต้องดูทั้งดีมานด์และซัพพลายด้วย”