แก้สัญญา"ไฮสปีด" เผือกร้อนรัฐบาลใหม่

26 พ.ค. 2566 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2566 | 14:01 น.

แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เผือกร้อน ครม.ก้าวไกล “ อีอีซี” ยัน ไม่กระทบ เตรียมพร้อม ถกรัฐบาลใหม่ไฟเขียว หากเจรจาเอกชนไม่เคลียร์ การรถไฟฯ ลุยสร้างงานโยธาทับซ้อนไฮสปีดไทย-จีน แทน

การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี เป็นคู่สัญญาสัมปทาน ยังหาข้อสรุปไม่ลงตัวโดยเฉพาะปมพื้นที่ทับซ้อน โครงสร้างร่วมไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน กับไฮสปีดไทย-จีน ที่ต้องรอรัฐบาลใหม่ไฟเขียว 

 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน กับคู่สัญญาบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด

เนื่องจากการแก้สัญญาโครงการฯดังกล่าวเหมือนกับการแก้ไขสัญญาในโครงการฯอื่นๆ ทั่วไป โดยในช่วงที่ผ่านมาการแก้ไขสัญญานั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้ว ซึ่งจะต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดรักษาการรับทราบก่อน

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับเอกชนในการแก้สัญญาโครงการฯ หลังจากนั้นทางอีอีซีจะเตรียมความพร้อมเพื่อหารือร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ ก่อนเสนอครม.เห็นชอบ ทั้งนี้ต้องดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายอย่างไรบ้าง”

ส่วนกรณีที่รฟท.เตรียมศึกษาดำเนินการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน เอง ในกรณีที่ยังเจรจากับเอกชนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะต้องแก้สัญญาโครงการฯ เพิ่มเติมนั้น ทางอีอีซีเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา เพราะเรื่องนี้รฟท.ต้องเตรียมแนวทางรับมือ เนื่องจากสัญญาเดิมที่มีอยู่นั้น ตามสัญญาจะมีการก่อสร้างเป็นช่วงๆอยู่แล้ว เมื่อมีโครงสร้าง ที่ต้องใช้ร่วมกัน ทำให้รฟท.มีแผนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันการรถไฟฯ ยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ได้ เนื่องจากตามเงื่อนไขของสัญญาระบุไว้ว่าเอกชนจะต้องได้บัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งปัจจุบันทางเอเชีย เอรา วัน ยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมดังกล่าว แต่ได้รายงานมายังการรถไฟฯ ว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ เบื้องต้นจึงคาดว่าจะสามารถออกหนังสือ NTP ให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ตามเป้าหมายภายในเดือน มิถุนายนนี้

 ส่วนความคืบหน้าสัญญาที่ 4-1 งานโยธาไฮสปีดเทรนไทย-จีน ช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งมีปัญหาการทับซ้อนกับไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอนัดการเจรจาร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนการรถไฟฯ, บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ให้เจรจาในรายละเอียดแนวทางที่รัฐต้องจ่ายค่าร่วมลงทุนงานโยธาพื้นที่ทับซ้อน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า จากการหารือในเบื้องต้น เอเชีย เอรา วัน ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไป ขณะที่การรถไฟฯ ก็ยืนยันว่าอยากให้โครงการนี้สำเร็จ เพื่อให้ EEC เกิดได้ เพราะถ้าโครงการนี้ไม่สำเร็จ ลองนึกภาพดูว่า EEC จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่มีไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะเกิดขึ้นอย่างไร

“ยอมรับว่าปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบกับภาพรวมการก่อสร้างของไฮสปีดเทรนไทย-จีน เพราะปัจจุบันแม้ว่าสัญญางานโยธาในช่วงอื่นๆ จะล่าช้าออกไปจากแผน แต่ก็มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่หากท้ายที่สุดการเจรจางานโยธาสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ยังไม่แล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นสัญญาเดียวที่ล่าช้าและทำให้ภาพรวมโครงการได้รับผลกระทบ”

ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้มองแนวทางแก้ไขปัญหาคู่ขนานกับการรอการเจรจากับ เอเชีย เอรา วัน โดยนับตั้งแต่เดือน เมษายนที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้เริ่มศึกษาแนวทางในการลงทุนงานโยธาส่วนของพื้นที่ทับซ้อนแล้ว หากกรณีที่เอเชีย เอรา วัน ไม่สามารถดำเนินการได้ การรถไฟฯ ก็จะต้องแก้ไขปัญหาส่วนนี้ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากการรถไฟฯ จะกลับมาดำเนินการเองในช่วงพื้นที่ทับซ้อนทั้ง 2 โครงการจะต้องไปแก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

 ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ต้องสร้างพื้นที่ทับซ้อนเอง ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 6,000-8,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันการรถไฟฯ ยังไม่เริ่มต้นขั้นตอนประกวดราคางานโยธาช่วง 4-1 ไฮสปีดเทรนไทย-จีน ดังนั้นหากจะกลับมาดำเนินการเอง ก็จำเป็นต้องใช้เวลา หากเทียบกับการรอเจรจาจากเอกชน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมาทางเอกชนก็ได้เริ่มขั้นตอนศึกษางานส่วนนี้และได้มีการเจรจาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง