BA เพิ่มทุน UTA 4,725 ล้าน ลุยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

26 พ.ค. 2566 | 01:00 น.

บอร์ด BA ไฟเขียวเพิ่มทุน “อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น” หรือ UTA วงเงิน 4,725 ล้านบาท ลุยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำธุรกรรมการลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA คิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 4,725 ล้านบาท

 

ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 45 ของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจการพัฒนาและบริหารสนามบินในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีทุนจดทะเบียนและทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วจำนวน 4,500 ล้านบาท

พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก

เนื่องจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมเงินทุนให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จึงได้มีหนังสือแจ้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากจำนวน 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 10,500 ล้านบาท

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UTA เผยว่า UTA อยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากโควิด-19 ซึ่งขยายเฟสการพัฒนาจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟส โดยปรับเฟสแรกจากรองรับที่ 15.9 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

จากนั้นมีการทดสอบระบบคาดว่าเปิดให้บริการได้ในปี 2570 และเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารถึงระดับ 80% ของขีดการรองรับ จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 โดยหารือกับอีอีซี และที่ปรึกษา  สัญญาสัมปทาน 50 ปีในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี

BA เพิ่มทุน UTA 4,725 ล้าน ลุยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

ตามแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน แบ่งเป็น 3 ส่วน

โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่

1.การบินและผู้โดยสาร และองค์ประกอบของสนามบิน

2. Airport City โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สันทนาการ การท่องเที่ยว

3. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางนํ้า หรือ Multimodel Transport

ส่วนที่สอง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation ซึ่งที่ผ่านมา UTA ได้มีการออกแบบเพื่อเตรียมก่อสร้างและวางคอนเซ็ปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสานกับอีอีซี กองทัพเรือ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย

รวมถึงแนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบินใน 1-2 ปีนี้ แต่ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่สามารถดึงดูดการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้าน Operation จัดเตรียมด้านบุคลากรในการให้บริการสนามบิน

ส่วนที่สาม เป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน

โดย UTA ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย ประกอบด้วย นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านการบริหารจัดการสนามบิน, มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ช่วยด้านการวางผังพัฒนาสนามบิน, ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านคาร์โก้ โลจิสติกส์ ซึ่งแผนการลงทุนมีหมดแล้วรอแค่การส่งมอบพื้นที่เท่านั้น