สศช. แจง นายกรัฐมนตรี “ประธานยุทธศาสตร์ชาติ”โดยตำแหน่ง

24 พ.ค. 2566 | 10:36 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2566 | 20:28 น.
2.3 k

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจง นายกรัฐมนตรี “ประธานยุทธศาสตร์ชาติ”โดยตำแหน่ง โฆษกรัฐบาล ขอให้คิดก่อนแชร์-วิจารณ์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แจ้งว่า หลังจากเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการเป็น "ประธานยุทธศาสตร์ชาติ" หรือประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2566 - 2570 โดยที่มีการใช้ถ้อยคำที่มีความบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 

สศช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 

สำหรับราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศตามที่มีการแสดงไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น เป็นเพียงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น

 

โฆษกรัฐบาล ขอให้คิดก่อนแชร์-วิจารณ์ ประธานยุทธศาสตร์ชาติ 

ต่อมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตและมีการกระจายข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีต้องการให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้ง ขอความร่วมมือให้ตรวจสอบข่าวสารจากหน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือเมื่อรับข้อมูลข่าวสารแล้วอาจต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนวิจารณ์หรือส่งต่อ เพราะการกระจายข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อสังคมซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

ความคืบหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ ล่าสุด สศช. ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2566 สรุปสาระสำคัญ คือ 

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 7 และ 20 มีนาคม 2566 ตามลำดับ 

ทั้ง 2 แผนเป็นแผนระดับที่ 2 ที่ทำหน้าที่ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการถ่ายระดับและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนระดับที่ 3 และการดำเนินโครงการ/การดำเนินงาน โดยเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบ “พุ่งเป้า” เช่น การกำหนดให้ทุกโครงการหรือการดำเนินงานของรัฐต้องส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานอาจยังไม่ได้นำหลักการถ่ายระดับเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติไปประกอบการวางแผนและการปฏิบัติของหน่วยงานเท่าที่ควร ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องนำหลักการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 

นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายมากกว่าการตอบตัวชี้วัด รวมทั้งนำข้อมูลแผนระดับที่ 3 และของทุกโครงการหรือการดำเนินงานและรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการหรือการดำเนินงานรายไตรมาสในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ให้ครบถ้วนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ขณะที่ การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มีการดำเนินการดังนี้ 

1. อยู่ระหว่างประมวลข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละหมุดหมาย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมาและช่องว่างการดำเนินงานที่มีในปัจจุบัน เพื่อจัดทำข้อเสนอการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 

2. จัดการประกวดผลงานภาพถ่ายของประชาชนทั่วไป ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายการขับเคลื่อน 13 หมุดหมายในระดับท้องถิ่นและตำบล” ซึ่งมีกำหนดเปิดรับภาพถ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม-8 พฤษภาคม 2566 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 

3. อยู่ระหว่างพัฒนาระบบแสดงผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเปิดของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open-D) เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในระดับท้องที่ ตลอดจนบูรณาการกับข้อมูลการดำเนินงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่

การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... โดย สศช. ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบการวางแผนและดำเนินโครงการต่าง ๆ 

ทั้งนี้การดำเนินการตามร่างระเบียบดังกล่าวจะลดผลกระทบจากการพัฒนาที่อาจมีต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เสริมสร้างการยอมรับของทุกภาคส่วน และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อน SDGs ประเด็นสิ่งแวดล้อมในช่วงต่อจากนี้มีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 และ สศช. อยู่ระหว่างเสนอครม.ต่อไป