สศช.เปิดภาวะสังคมไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจฟื้น แรงงานเงินเดือนขึ้น

22 พ.ค. 2566 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 12:57 น.

สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลแรงงานเงินเดือนขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มมีโอที จำนวนผู้มีงานทำมากขึ้น และการวางงานลดลง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ว่า ในไตรมาสแรก ค่าจ้างแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยค่าจ้างเฉลี่ยภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 15,118 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.4% ส่วนภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,722 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 1.9%

เช่นเดียวกับค่าจ้างที่แท้จริงที่ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.3% และภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 2.8% สะท้อนความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น และสอดรับกับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนผู้มีงานทำมากขึ้น และการวางงานลดลง ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี

การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับไตรมาสแรก ปี 2566 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำรวม 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% ตามปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 

รวมทั้ง การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% ซึ่งเป็น การขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2565 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ การค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัว 4.4% และ 8.2% ตามลำดับ 

ส่วนหนึ่งเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสแรก ของปีกว่า 6.48 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 13 เท่า รวมทั้งการขยายตัวของการท่องเที่ยว ในประเทศจากแรงกระตุ้นของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ 

ขณะที่สาขาที่เน้นการส่งออก เป็นหลัก อาทิ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้ามีการจ้างงานลดลง สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้างที่หดตัวถึง 7.2% และ 1.6% ตามลำดับ

แรงงานเริ่มได้โอที

สศช.พบข้อมูลว่า แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น และได้รับค่าจ้างเพิ่ม ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 44.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงาน 50 ชั่วโมงต่อ สัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวน 2.3 แสนคน ปรับตัวลดลง 28.6% และผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 3.4 ล้านคน ลดลง 11.3% สะท้อนสภาพการทำงานที่เข้าสู่ภาวะปกติ 

ว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ

อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.05% ซึ่งผู้ว่างงานลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ไม่เคยทำงานมาก่อน และผู้ว่างงานระยะยาว เช่นเดียวกับการว่างงานตามระดับการศึกษาที่มีอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องในทุกระดับ 

สำหรับการว่างงาน ในระบบมีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 จำนวน 2.26 แสนคน ลดลง 25.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 1.94%