ฝากรัฐบาลใหม่ "ช่วยต่อลมหายใจ" ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

20 พ.ค. 2566 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 13:34 น.

บทความโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตลอดช่วงหน้าร้อนนี้ความหวังว่าราคาหมูหน้าฟาร์มจะดีขึ้นบ้างคงหมดหวัง สถานการณ์ตอนนี้ของชาวหมูเรียกได้ว่า “น้ำตาตก” เนื่องจากราคาขายหมูหน้าฟาร์มอ้างอิงเขตภาคตะวันตกอยู่ที่ 70 บาท/กก. ไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่คงตัวในระดับสูงกว่า 90 บาท/กิโลกรัม แต่ก็ยังดีที่แนวโน้มต้นทุนที่เริ่มลดลง (ภาพที่ 1)

ฝากรัฐบาลใหม่ \"ช่วยต่อลมหายใจ\" ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ผลของการปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ได้ประเมินว่ามีปริมาณชิ้นส่วนหมูแช่แข็งลักลอบนำเข้าคิดเป็นปริมาณหมู 6-7 ล้านตัว ปริมาณหมูเข้ามามากจนทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าต้นทุนแบบที่เรียกว่าเข้าเนื้อจนถึงกระดูจนชาวหมูทนไม่ไหว

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ชาวหมูนัดชุมนุมจากทั่วประเทศเดินทางเข้าทำเนียบเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีลักลอบนำเข้าเนื้อหมู 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นผลให้ภาครัฐรับปากตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปัญหาเนื้อสุกรลักลอบ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์

 

นอกจากนี้ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ยังได้ส่งเรื่องถึงกรมศุลกากร "ขอให้ขึ้นบัญชีผู้นำเข้าเนื้อสุกรที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เข้าลักษณะต้องตรวจสอบการผ่านพิธีการแบบ Red Line ทั้งหมด จนกว่าจะจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าจนถึงที่สุด" แต่ก็ยังไม่ได้ความคืบหน้า จนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ได้ยื่นร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จนอธิบดีดีเอสไอรับคดีปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษ 

ฝากรัฐบาลใหม่ \"ช่วยต่อลมหายใจ\" ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ความเจ็บปวดที่สั่งสม ชาวหมูรายย่อยขาดทุนซ้ำจนท้อ แม้ว่าหลายรายอยากกลับเข้าเลี้ยง เนื่องด้วยตอนนี้ราคาลูกหมู 1,700 บาท/ตัว แต่ก็ไม่กล้าเนื่องจากราคาขายลงจนน่ากลัว เพราะลงที 4 บาท ไม่เห็นทางของกำไรเนื่องจากต้นทุนสูงจนท้อ ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาจึงเป็นเหนือแสงแห่งความหวังของชาวหมูว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไม่บ้างก็น้อย

 

ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร ในฐานะนักวิชาการใคร่ขอฝากว่าที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ไว้ โปรดเห็นใจและช่วยชาวหมูสักหน่อยในระยะสั้นเรื่องที่ทำได้ง่ายและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็วคือ

1.เรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการเร่งติดตามคดีและจัดการขบวนการลักลอบนำเข้าหมูที่ข้ามน้ำข้ามทะเลโดยเร็ว ส่วนการลักลอบจากประเทศรอบบ้านคาดว่าจะไม่จูงใจเนื่องจากราคาหน้าฟาร์มตอนนี้พอ ๆ กัน

2.ปรับปรุงกระบวนการสำแดงสินค้านำเข้าให้ถูกต้องโปร่งใส เนื่องจากการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งใช้วิธีการสำแดงเท็จเป็นอาหารแช่แข็งชนิดอื่น และทำลายหมูแช่แข็งที่ท่าเรือทันทีที่มีการตรวจพบ สถานการณ์ราคาหมูหน้าฟาร์มจะดีขึ้นภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์

3.แก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยตรวจสอบปริมาณข้าวโพดตามจุดรับซื้อว่ามีการกักตุนเกินความจำเป็นหรือไม่

ฝากรัฐบาลใหม่ \"ช่วยต่อลมหายใจ\" ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ส่วนเรื่องระยะยาว ภาครัฐควรต้องเอาจริงเอาจังกับการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ลุกล้ำพื้นที่ป่าและไม่เผา ซึ่งจำเป็นต้องให้องค์ความรู้ในการผลิต จัดการน้ำและดิน เนื่องจากดินแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง การจัดการก็แตกต่าง

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ยกเลิกระบบโควตานำเข้า 3 ต่อ 1 โดยวางแผนกำหนดช่วงและปริมาณนำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยการจัดการข้อมูลตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตให้เร็วตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่ผู้ประกอบการได้มีเวลาบริหารจัดการนำเข้าข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์โดยไม่กระทบต่อราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ

เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีเนื่องจากอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวง เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถต่อลมหายใจให้พี่น้องชาวหมูรายย่อยได้นับแสนราย