ททท.เปิด 10 เทรนด์เวลเนสโลก หลังโควิด-19 โอกาสผู้ประกอบการไทย

17 พ.ค. 2566 | 16:17 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 17:52 น.

ท่องเที่ยวสุขภาพบูมหลังโควิด ททท. เปิด 10 เทรนด์ท่องเที่ยวเวลเนสจากทั่วโลก โอกาสและความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการไทย

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ททท. มีแผนที่จะพัฒนาและส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism อย่างเข้มข้นเพื่อนำเสนอขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourist ทั่วโลก ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างสูง ผู้ประกอบการไทยจะประสบความสำเร็จได้ในโอกาสนี้จะต้องทำการบ้านให้ดี เพราะนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ

จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันสุขภาพโลก (GWI) ระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะมียอดเงินหมุนเวียน 817,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2566 และขยายตัวเป็น 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2568 เป็นผลมาจากที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก่อนป่วย รวมทั้งการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Care) ตลอดจนการเสริมภูมิต้านทาน ซึ่งในภาพรวมธุรกิจกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 8.1% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะรวมอยู่ในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ความสนใจของผู้มาเยือนก็มีความแตกต่างในรายละเอียด โดยกลุ่มความสนใจทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาความหมายใหม่ของการใช้ชีวิต ที่ความหรูหราสะดวกสบายไม่อาจตอบโจทย์ได้ครบถ้วน 

รูปแบบของทิศทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่รวบรวมไว้ประกอบด้วย 

1. The ‘local wisdom’ of Health and Wellness สู่แหล่งกำเนิดของการรักษาแบบโบราณที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อแช่น้ำพุร้อน พักที่พักแบบเรียวกัง หรือไปอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดโยคะโลก เพื่อได้เข้าคลาสโยคะกับกูรูในตำนาน 

ททท.เปิด 10 เทรนด์เวลเนสโลก หลังโควิด-19 โอกาสผู้ประกอบการไทย

2. Wellness & Water มาจากแนวคิดที่ว่า น้ำ คือ ต้นกำเนิดของสุขภาพที่ดี กิจกรรมที่ใช้น้ำเพื่อบำบัดจึงได้รับความนิยมมาก เช่น การแช่น้ำพุร้อน การอาบน้ำตก หรือว่ายน้ำในลำธารในป่าใหญ่  

3. Wellness Spiritual ทริปเจริญสติ ฝึกสมาธิ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักเดินทางทั่วโลก การปลีกวิเวก แสวงหาความสงบจากการพักผ่อนเงียบ ๆ เพียงลำพัง เป็นการท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างแท้จริง

4. Wellness Company Outing ทั้งในยุโรปและอเมริกา จะเห็นการเพิ่มขึ้นของทริปองค์กรที่พาพนักงานไปทำกิจกรรม Team building เน้นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทางกายและจิตใจ

5. Plant Based Therapy คนรุ่นใหม่ทั่วโลกหันมากินอาหารที่ผลิตจากพืชมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้พบว่าร้อยละ 5 ของประชากรในสหรัฐอเมริกา หรือราว 16.5 ล้านคนเป็นมังสวิรัติ บรรดารีสอร์ตสุขภาพทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจึงเพิ่มเมนูอาหารจากพืช

6. Animal Therapy งานวิจัยมากมายระบุว่า มิตรภาพที่ดีระหว่างคนกับสัตว์ส่งผลต่อจิตใจ ก่อให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย โปรแกรมท่องเที่ยวฟื้นฟูสุขภาพ ไม่ใช่เพียงการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง แต่รวมถึงสัตว์อื่น ๆ เช่น การอาบน้ำช้าง การดูนก สำรวจสัตว์ป่า

7. Emotional Wellness การฟื้นฟูจิตใจสำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่ท่ามกลางความเครียด เกิดความวิตกกังวลสะสม, ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เพื่อให้ผ่อนคลาย โดยการบำบัดฟื้นฟูจะใช้หลักทางโภชนาการ การออกกำลังกาย และการดูแลจิตใจ สร้างความเข้มแข็งทางใจให้เหล่านักเดินทางได้มองโลกอย่างงดงามเปี่ยมความหมายและสร้างสรรค์

8. Digital Detox ลดอาการเสพติดเทคโนโลยี เว้นวรรค หรือพักการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลชั่วคราว วางเฉยต่อโซเชียลมีเดีย พักใจ พักสมอง และนำตนเองออกสู่ธรรมชาติ มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และโลกภายนอก เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสมดุลให้กับชีวิต มีเวลาทบทวนตัวเอง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์

ททท.เปิด 10 เทรนด์เวลเนสโลก หลังโควิด-19 โอกาสผู้ประกอบการไทย

9. Alcohol Free Therapy เพื่อช่วยให้เลิกดื่มสุรา ล้างพิษ และเสริมสร้างสุขภาพทางกายและใจ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการนวดสปากำหนดจุดที่ได้ผล

10. Wellness Meet Medical Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผสานกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพเชิงบูรณาการ รวมการวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่น การดริปวิตามินทางเส้นเลือดเพื่อเสริมภูมิต้านทาน การฝึกโยคะ หรือกำหนดโภชนาการ และการออกกำลังกายที่ออกแบบเฉพาะบุคคล

“ทั้งหมดเป็นเทรนด์ที่ผสมผสานกับรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในบ้านเรา นักเดินทางเพื่อสุขภาพในยุคหลังโควิดนี้มีดีมานด์ที่หลากหลายและต้องการประสบการณ์จากการเดินทางที่มีคุณค่า เปี่ยมความหมาย การออกแบบทริปเพื่อสุขภาพในยุคนี้จึงต้องตอบโจทย์สุขภาพกายและเติมเต็มจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง และนี่คือโจทย์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการเวลเนสยุคนี้” รองผู้ว่าการททท. ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวทิ้งท้าย