ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไทยมีเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นชาวนาปลูกข้าวมากที่สุด 4.6 ล้านครัวเรือน โดยไทยเป็นประเทศผู้ปลูกข้าวเหลือบริโภคในประเทศ และเคยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ในไส้ของชาวนาไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย และยังมีภาระหนี้สินแทบทุกครัวเรือน
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่ได้เก็บข้อมูลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำการประเมิน 10 ปีชาวนาไทย มีรายได้ รายจ่ายและหนี้สินอย่างไร โดยเป็นการวิเคราะห์จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นรอบด้าน ทั้งปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ค่าไฟฟ้าแพง รวมถึงนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ผลการเก็บข้อมูลในเรื่อง “หนี้ชาวนา”ปัจจุบันพบว่าร้อยละ 70 ของชาวนาไทยเป็นหนี้อยู่ระหว่าง 1-3 แสนบาทต่อครัวเรือน โดยชาวนามีหนี้ใน 2 รูปแบบคือ ในรูปเงินสด และไม่ใช่เงินสด ในส่วนของหนี้เงินสดส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ส่วนหนี้ที่ไม่ใช่เงินสดเป็นหนี้กับร้านขายปัจจัยการผลิต และวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่หรือในจังหวัดที่เกษตรกรนำมาใช้ก่อนจ่ายเงิน โดยร้านค้าจะบวกเงินเพิ่มระหว่าง 30-50 บาทแล้วแต่จะตกลงกัน
“การเป็นหนี้ของชาวนาเกิดขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ย้อนหลังไปชาวนาไม่เป็นหนี้มากขนาดนี้ ในขณะที่รายได้ รายจ่าย และเงินเหลือของชาวนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2555 ชาวนาไทยเฉลี่ยใน 1 ปี มีเงินหลังหักต้นทุนการผลิต 29,035 บาท ขณะที่ชาวนาเวียดนามหักต้นทุนการผลิตแล้วเหลือเงินในกระเป๋า 54,218 บาท และชาวนาเมียนมาเหลือเงิน 29,278 บาท หมายความว่าปี 2555 ชาวนาไทยจนสุดในอาเซียน”
ขณะที่จากข้อมูลเปรียบเทียบปี 2565 รายได้ รายจ่ายชาวนาไทยจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และเมื่อเทียบกับชาวนาเวียดนามแตกต่างกันอย่างไร พบว่าในปี 2565 ชาวนา (นาปรัง) ของไทยเหลือเงิน 39,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าใน 10 ปีที่ผ่านมาชาวนาไทยมีเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 บาท (39,000 ลบด้วย 29,035) หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 900 บาท เทียบกับชาวนาเวียดนามช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเงินเหลือต่อปี 73,743 บาท หรือมีเงินเหลือเพิ่มอีก 19,525 บาท (73,743 ลบด้วย 54,218) หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,627 บาท
แสดงว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยมีเงินเหลือเพิ่มและเหลือน้อยกว่าชาวนาเวียดนาม ที่เป็นเช่นนี้มาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ โดยไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) 2.ความพร้อมของแหล่งน้ำ เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 2 ครั้ง 3.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม” และ 4.การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย
ขณะเดียวกันในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกผันผวนอย่างมาก จากในปี 2554 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ส่งออกได้ 10 ล้านตัน ตามด้วยเวียดนาม 7 ล้านตัน และอินเดีย 4.6 ล้านตัน ต่อมาในปี 2555 และ 2556 ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดีย 2 ปีซ้อน โดยไทยส่งออกเป็นอันดับสาม ต่อมาในปี 2558-2561 ไทยทวงแชมป์คืนมาได้อีกครั้ง แต่หลังจากปี 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อินเดียคือแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก
โดยในปี 2565 อินเดียส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติได้ 17 ล้านตัน ไทยอันดับสอง 7.5 ล้านตัน ตลาดหลักส่งออกข้าวไทยคืออาเซียน ทวีปแอฟริกา (แอฟริกาใต้ เบนิน) ตามด้วยตลาดเอเชีย (จีน ญี่ปุ่น) สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง สำหรับตลาดข้าวอาเซียนเป็นการแข่งขันระหว่างข้าวไทยกับข้าวเวียดนามเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันเวียดนามคือแชมป์ส่งออกข้าวในตลาดอาเซียน
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จุดด้อยของชาวนาไทยเวลานี้ที่ทำให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน หรือคู่แข่งขันส่งออกข้าวเช่นเวียดนาม มีหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ โครงสร้างพื้นฐานในเรื่องแหล่งน้ำที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนา เรื่องเมล็ดพันธุ์ในชนิดข้าวที่ตลาดมีความต้องการและให้ผลผลิตต่อไร่สูงยังมีไม่เพียงพอ เรื่องลดต้นทุนการผลิตที่ยังสูง ทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช น้ำมัน และอื่น ๆ
นอกจากนี้ชาวนาส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อย และเป็นนาเช่า ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ที่สำคัญส่วนใหญ่ชาวนายังมีภาระหนี้สิน ซึ่งอยากให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ได้ช่วยเร่งแก้ไขปัญหาที่กล่าวมา จากชาวนา ณ ปัจจุบัน 4.6 ล้านครัวเรือน ร่วม 20 ล้านคน พื้นที่เพาะปลูกกว่า 62 ล้านไร่ ถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ
ขณะที่ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ปัญหาภาระหนี้สินของชาวนายังเป็นปัญหาใหญ่สุดของชาวนาไทย เวลานี้ชาวนากว่า 90% มีภาระหนี้สิน อยากให้นักการเมืองว่าที่รัฐบาลใหม่ได้เร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้ รวมถึงหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนาเพื่อลดหรือปลดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น
ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ชาวนา รวมถึงเกษตรกรไทยในภาพรวมยังมีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ ทั้งจากภัยธรรมชาติ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนรวมถึงภัยแล้ง น้ำท่วมที่ปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยเสี่ยงจากศัตรูพืช และความผันผวนด้านราคา ทำให้ขาดความมั่นคงในรายได้ และการประกอบอาชีพ มีภาระหนี้สินสูง มีขนาดเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรน้อย การผลิตยังผลิตพืชเชิงเดี่ยวเป็นสำคัญ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูก ทำให้มีรายได้ในรอบปีจำกัด
“วาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ต้องสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนของพืชเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ให้เป็นแวลูเชน เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรไปสู่ฐานเศรษฐกิจนวัตกรรม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของสินค้า สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่ม” รศ.สมพร กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3886 วันที่ 11 -13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566