ผวา “เอลนีโญ” แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

06 พ.ค. 2566 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2566 | 22:34 น.
893

“โรงสี-ส่งออกข้าว” ห่วงเอลนีโญลามไทย ทุบผลผลิตหด ฉุดส่งออกวืดเป้า 7.5-8 ล้านตัน “ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว” ชู “ศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้” ความหวังใหม่สายพันธุ์หลากหลายต้านทานโรค เพิ่มผลผลิต ขณะส่งออกข้าว 3 เดือนแรก“เอเซีย โกลเด้น ไรซ์” นำโด่ง

สัญญาณปรากฏการณ์เอลนีโญในหลายประเทศที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งรุนแรงขึ้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกที่ผลิตข้าวไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และปาสกีสถานซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่มีผลผลิตลดลง มีการประเมินว่าอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวทั่วโลกหนักสุดในรอบ 20 ปี วงการข้าวไทยคิดเห็น และจะรับมืออย่างไรในเรื่องนี้

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกกังวล และต้องรอดูสถานการณ์เป็นระยะๆ ที่ผ่านมาตนได้ยํ้าเสมอว่า ข้าวไม่ใช่เป็นสินค้าที่จะไปตั้งราคาได้เหมือนกับสินค้าอุตสาหกรรม เพราะผลผลิตข้าวของไทย และทุกประเทศที่เป็นคู่แข่งขันมีความเกี่ยวข้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ ราคาข้าวส่งออกที่ขึ้น-ลงจึงมีความเชื่อมโยงกับปริมาณผลผลิตข้าวโลกด้วย

ผวา “เอลนีโญ”  แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

ขณะที่พันธุ์ข้าว และต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้ต้นทุนการปลูกมีต้นทุนตํ่า ทั้งในเรื่องปุ๋ยยา แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง พันธุ์ข้าวเป็นพันธุ์ที่ต่างประเทศต้องการซื้อ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ มากกว่าจะพูดแต่เรื่องของราคาข้าวเพียงอย่างเดียว

รังสรรค์ สบายเมือง

สอดคล้องกับนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ คาดจะกระทบบ้างแล้ว ที่ผ่านมาไทยเคยประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตลดลง และการส่งออกลดลงตามผลผลิต ปัจจุบันไทยผลิตข้าวเหลือรับประทานในประเทศ และส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก แม้จะเกิดภัยแล้งเพียงใด แต่พื้นที่ผลิตข้าวยังผลิตต่อเนื่อง ข้าวเพื่อบริโภคในประเทศไทยก็ยังเหลือ ไม่เคยขาดแคลน แต่หากแล้งจริงภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยไม่เป็นไปตามเป้า(ปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 7.5-8 ล้านตัน)

ผวา “เอลนีโญ”  แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

“อยากฝากถึงชาวนาที่จะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก หลังจากที่กรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ขอให้ทำนาด้วยความปราณีต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตกันให้ได้ ในอนาคตจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องเริ่มปรับตัวกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากในอนาคตมาถึงอาจถูกกีดกันการค้าพืชเกษตรที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลานั้นเราจะได้มีความพร้อมและทำได้ทันที ตอนนี้ทำได้ดีอยู่แล้ว และกำลังพัฒนากันอยู่ โรงสีก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย”

ผวา “เอลนีโญ”  แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

 ด้านนายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย กล่าวว่า เห็นสัญญาณอันตราย “เอลนีโญ่” ภัยแล้งเกิดขึ้นจริงแล้ว นํ้าในคลองเริ่มแห้ง เกษตรกรที่เริ่มเพาะปลูกได้ต้องหันไปปลูกข้าวอายุเก็บเกี่ยวสั้น จากข้าวคุณภาพของไทยอายุเก็บเกี่ยวยาวเริ่มไม่ได้รับความนิยม ตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ จากคาดภัยแล้งจะอยู่ยาวถึง 2 ปี

“วันนี้เรายังไม่พันธุ์ข้าว อายุ 90 วัน นอกจากพันธุ์ข้าวกข 61 ซึ่งเป็นข้าวชนิดแข็ง ทั้งที่จริง เราควรมีทั้งข้าวพื้นนุ่มและพื้นแข็งอายุสั้น ต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูงดังนั้น “ศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้” ที่ก่อตั้งโดย บจก.นาเฮียใช้ เป็นเอกชนผู้รวมรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวรายแรกที่เกิดขึ้น จะเป็นกำลังเล็กๆ ช่วยราชการในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปัจจุบันได้มีการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์แล้ว คาด 4 ปีจะเห็นผลสัมฤทธิ์ พันธุ์แรกต้องแจ้งเกิด หลังจากนั้นในปีต่อไป ต้องแจ้งเกิดทุกปีๆ ละ 1 พันธุ์ โดยภายในศูนย์ จะมีห้องวิจัยเรื่องโรคและแมลง การวิเคราะห์ดิน เพื่อบริการชาวนา และตอบโจทย์ความต้องการในเชิงพาณิชย์ด้วย”

ผวา “เอลนีโญ”  แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงของเกษตรกรมีอยู่ 3 อย่าง 1.โรคพืช โรคแมลง 2.ดินฟ้าอากาศ 3. ราคา ปรากฎการณ์เอลนีโญ่ หมายถึงความแห้งแล้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือแหล่งนํ้า วันนี้เรามีเขื่อน แต่มีปัญหานํ้าไม่เต็มเขื่อน มีคลองส่งนํ้า แหล่งนํ้าสาธารณะ แต่ไม่ได้บูรณะซ่อมแซม มีพื้นที่ชลประทานแต่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด หากประสบภัยแล้งจะทำให้รายได้เกษตรกรหายไป ก็จะเป็นภาระรัฐบาล วันนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดคิดจะปรับโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตรกรอย่างจริงจัง

ผวา “เอลนีโญ”  แผลงฤทธิ์ ฉุดส่งออกข้าวเสี่ยงวืดเป้า

อนึ่ง ช่วง 3 เดือนแรกปี 2566 ไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศรวม 1.79 ล้านตัน อันดับ 1 กลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์  261,140 ตัน อันดับ 2 กลุ่มธนสรรไรซ์ 181,255 ตัน และอันดับ 3 กลุ่มซี.พี.อินเตอร์เทรด 138,488 ตัน (กราฟิกประกอบ)

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,884 วันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.  2566