APPCเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี 

05 พ.ค. 2566 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2566 | 10:39 น.

APPC ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทชใต้ดินอุดรธานี ตั้งกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย จ่ายงวดแรกค่าลอดใต้ถุน 159 แปลง 2.6 ล้านบาท

 ตั้งกองทุนที่เกี่ยวข้องตาม EIA กำหนด จ้างผู้เชี่ยวชาญแคนาดาสำรวจออกแบบเหมือง เร่งหาผู้ร่วมทุนเพื่อเปิดงานแล้ว

รัฐบาลเห็นชอบให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ APPC ภายใต้การดำเนินการของอิตาเลี่ยนไทย ดำเนินการโครง การเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลนและมีราคาแพง

APPCเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี 

APPCเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบประทานบัตรให้เมื่อ 7 ต.ค. 2565 แล้วนั้น ในช่วงแรกนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการทำเหมืองแร่ ซึ่งบริษัทได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ แยกเป็น 3 ด้าน คือ

1. การดำเนินงานตามมาตรการ EIA ช่วงระยะเตรียมการ และการปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร

APPCเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี 

APPCเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี 

การดำเนินการในกลุ่มนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปหลายกิจกรรม โดยชำระเงินโบนัสในการอนุญาตประทานบัตรแก่รัฐบาลไทย ทันทีเมื่อได้รับมอบประทานบัตร จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือ 187.294 ล้านบาท) ตามที่กำหนดในสัญญา

นอกจากนี้ยังดำเนินการให้ได้คณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย จนประกาศรายชื่อได้แล้วเมื่อ 15 พ.ย. 2565 จำนนวน 86 คน และเมื่อ 21 พ.ย. 2565 ประชุมกำหนดตัวผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินของโครงการ 3 คน ประกอบด้วย 1. นายเคนเหล็ก เรืองเดช อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองโนนสูง - นํ้าคำ 2. นายร่วม แก่นแก้ว อดีตประธานคณะกรรมการบริหารอบต.หนองไผ่ และ 3. นายประจวบ แสนพงษ์ อดีตนายกอบต. ห้วยสามพาด

รวมทั้งได้จ่ายเงินค่าทดแทนการทำเหมืองใต้ดิน ในระดับความลึกจากผิวดินเกินกว่าหนึ่งร้อยเมตร โดยเมื่อ 24 พ.ย. 2565 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนในโครงการฯ ได้ประชุมครั้งแรก วางแนวทางและขั้นตอนการรับ-จ่ายเงินค่าทดแทนฯเสร็จแล้ว และเริ่มจ่ายเงินทดแทนงวดที่ 1 จำนวน 159 แปลง เนื้อที่ 578-1-1.50 ไร่ วงเงิน 2.631 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า บริษัทฯยังได้วางเงินสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดิน งวดแรก 3.792 ล้านบาท ไว้ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว และ กำหนดจุดและติดตั้งกล่องรับเรื่องร้องเรียนตามข้อกำหนดของ EIA จำนวน 14 จุด โดยจะตรวจสอบข้อร้องเรียนทุกสัปดาห์ แต่ที่ผ่านมายังไม่มี

ส่วนกองทุนตามข้อกำหนด EIA นั้น บริษัทได้เปิดบัญชีนำเงินเข้ากองทุนแล้ว 2 กองทุน คือ 1) กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 2 งวดของปี 2565 และ 2566 จำนวน 2 ล้านบาท 2) กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง เริ่มแรกสนับสนุนงานคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ ปี 2566 เข้าบัญชีแล้ว 500,000 บาท
 

ลำดับถัดไปจะสนับสนุนแก่ 1) กองทุนการศึกษา ปี 2566 ส่วน 2) กองทุนช่วยเหลือครัวเรือน 3) กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ 4) กองทุนสวัสดิการชุมชน จะเริ่มดำเนินการในปีที่เริ่มก่อสร้าง และ 5) กองทุนปุ๋ย จะเริ่มดำเนินการในปีที่เริ่มผลิตแร่ได้

ด้านการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการปีละ 2 ครั้งต่อเนื่องมาก่อนได้ประทานบัตร โดยบริษัท เอ็นไวร์โปร จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งล่าสุดเมื่อ 20- 25 ก.พ. 2566 โดยได้เก็บตัว อย่างและได้สรุปรายงานผลการตรวจวัด เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

2. งานด้านเทคนิคและวิศวกรรม

บริษัทฯได้จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองใต้ดินประเภทแร่โปแตซโดยตรงจากประเทศแคนาดา และมีแผนดำเนินการต่อไป คือ 1) การขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เพื่อเตรียมที่ตั้งโรงแต่งแร่ 2) เตรียมสำรวจสภาพภูมิประเทศ (Topographic Survey) บริเวณรอบๆ เพื่อออกแบบโรงแต่งแร่ 3) สำรวจเพิ่มเติมเพื่อออกปบบทางลงเหมืองใต้ดิน 4) การจัดหาบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ชั้นนํ้าใต้ดิน (Groundwater Modelling) ตามเงื่อนไขประทานบัตร 5) ตั้งสำนักงานชั่วคราวเตรียมงานก่อสร้าง และ 6) ประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อสำรวจจุดเชื่อมต่อรางรถไฟเพื่อขนส่งผลิตภัณฑ์สินแร่โพแทช

ช่วงเริ่มต้นนี้อาจล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนมากถึง 30,000 ล้านบาท และเกิดสงครามยุโรป ทำให้นํ้ามันแพง เงินเฟ้อ กระทบเศรษฐกิจโลก ทำให้การระดมเงินทุนและหาผู้ร่วมลงทุน ที่มีความพร้อมและมีประสบการณ์ ต้องรอบคอบและใช้เวลานานกว่าที่คาด แต่จะเร่งดำเนินการให้ก้าวหน้าโดยเร็ว และ

3. การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) และการประชาสัมพันธ์

ได้จัดประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่ เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ ประชาสัมพันธ์การ จ่ายเงินทดแทน การคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียฯ ทั้งจัดประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประจำทุกเดือน ประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียภาคประชาชน จัดประชุมชาวบ้าน 24 หมู่บ้านในเขตประทานบัตรรับทราบข้อมูลโครงการ เป็นต้น 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ.2566