ลุ้น เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยทิ้งทวน ก่อนชะลอ หลังวิกฤตแบงค์รัน

03 พ.ค. 2566 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 16:30 น.

นักวิเคราะห์ คาดวันนี้ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจส่งสัญญาณหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในรอบ 14 เดือน เนื่องจากกังวลความเสี่ยงวิกฤตการเงิน หลังเกิดการล่มสลายของธนาคารต่างๆ ไปจนถึงกรณีที่สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ในเดือนหน้า

นักวิเคราะห์ คาดวันนี้ (3 พ.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะ "ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" และอาจส่งสัญญาณหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในรอบวัฎจักร 14 เดือนเนื่องจากผู้กำหนดนโยบายต้องสร้างความสมดุลระหว่าง ความจำเป็นในการชะลออัตราเงินเฟ้อ กับความเสี่ยงที่กดดันให้เกิดการล่มสลายของธนาคารต่างๆ ไปจนถึงกรณีที่สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ในเดือนหน้า

คาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%  หลังจบการประชุมกำหนดนโยบายตลอด 2 วัน โดยคำแถลงนโยบายมีกำหนดจะออกในเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงต่อมา  “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด จะแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ถ้อยแถลงใหม่จากเฟด และการชี้แจงจากพาวเวลล์ ล้วนมีผลทำให้ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ "ทวีความรุนแรงขึ้น" และนำไปสู่ความขัดแย้ง

เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ได้คุ้มเสีย?

อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ที่ลดลงอย่างช้าๆ ทำให้เจ้าหน้าที่เฟดบางคนไม่มั่นใจว่า อัตราดอกเบี้ยนั้นสูงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอลง และการล่มสลายของธนาคาร 3 แห่ง ล้วนเพิ่มความกังวลว่าปัญหาจะขยายวงกว้าง  

นอกจากนี้ การเจรจาเพื่อจำกัดเพดานหนี้ ระหว่างพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส และพรรคเดโมแครตที่คุมทำเนียบขาว อาจทำให้เกิดวิกฤตเฉียบพลัน หากรัฐบาลสหรัฐถูกบังคับให้หยุดชำระหนี้

เฟดอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ย "ครั้งสุดท้าย"

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา  10 จาก 18 คน ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด ระบุว่า หลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในสัปดาห์นี้ ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5.00% สู่ระดับ 5.25% มีแนวโน้มที่พวกเขาจะลงมติ "ให้หยุดการขึ้นดอกเบี้ย" หลังจากนั้น 

ท่ามกลางความหวังว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็น "รอบสุดท้ายของวงจรการรัดเข็มขัด" ในปัจจุบัน โดยไม่สะเทือนต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต

การประชุมของเฟดเมื่อ 22-23 เมษายนที่ผ่านมา ต้องคิดหนักเรื่องกำหนดดอกเบี้ยนโยบายรอบใหม่ หลังการล่มสลายของ 3 ธนาคารอย่าง Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic Bank เพราะเฟดต้องช่างน้ำหนักถึงผลที่เกิดขึ้น  ระหว่าง ภาคการเงินที่ต้อง "เผชิญกับความวุ่นวาย" หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าเดิม กับ "เป้าหมายลดอัตราเงินเฟ้อ"ลงมาให้ได้ตามแผน

เปลี่ยนเกียร์ “ชะลอ" ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

คำแนะนำเกี่ยวกับทิศทางกำหนดดอกเบี้ยนโยบายรอบใหม่ของเฟด ส่วนหนึ่งมักมาจาก Federal Open Market Committee ซึ่งล่าสุดออกเมื่อเดือนมีนาคม ระบุว่าธนาคารกลาง "อาจกำหนดนโยบายเพิ่มเติมที่เหมาะสม เพื่อให้เฟดบรรลุจุดยืนเดิม นั่นคือการลดอัตราเงินเฟ้อ”

วลีดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่เฟด ร่างไว้ในผลการประชุมเมื่อมีนาคม ว่า "จะมีการเพิ่มดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในแผน"

ย้อนไปเมื่อปี 2562 และ 2549 เฟดเปลี่ยนเกียร์การปรับดอกเบี้ยนโยบาย จากที่สภาพแวดล้อมช่วงนั้น มีต้นทุนการกู้ยืมสูง เฟดเปลี่ยนแนวทางจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไปสู่การกลับมาเส้นทางสายกลางมากขึ้น โดยอ้างอิงคำกล่าวของเฟดเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ระบุว่า "ขอบเขตและระยะเวลาของการกำหนดนโยบายเพิ่มเติมใดๆ จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ"

นักวิเคราะห์จาก  HSBC มองว่า ถ้อยแถลงหลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 มีแนวโน้มที่เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประชุมรอบนี้ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะแตะจุดสูงสุดตามที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้

การปรับแนวทางของเฟด อาจบอกเป็นนัยว่าเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้จะเปลี่ยนไป แนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นยังมีอยู่ และไม่มีใครรับรองได้ว่าครั้งนี้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายหรือไม่ คงต้องรอผลการปะชุมจากเฟดที่จะออกมาในค่ำคืนนี้ 

ที่มา : CNA