เปิด 6 ข้อเสนอ กกร. ชงรัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

03 พ.ค. 2566 | 15:04 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 15:04 น.

เปิด 6 ข้อเสนอ กกร. ชงรัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ชี้การส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. ,หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยมี 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
  • ด้าน Ease of Doing Business  เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
  • ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
  • ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว 
  • ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
  • ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)

เปิด 6 ข้อเสนอ กกร. ชงรัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กกร. มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปี ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน

"กกร. เห็นควรให้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฯ ขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง และเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น"
 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัว โดย GDP ของจีนและสหรัฐฯในไตรมาสแรกต่างขยายตัว จากภาคบริการที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตที่ชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 1 เริ่มปรับตัวดีขึ้น นำโดยตลาดสหรัฐฯ ที่แม้ว่ายังเผชิญปัญหาสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนมากนัก สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลักมองว่าเป็นผลต่อภาคการส่งออกไทย 

ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 

สำหรับภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทยที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าซึ่งอาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

"กกร.คงกรอบประมาณการณ์จีดีพีเดือน พ.ค.ไว้ที่  3.0-3.5% เช่นเดียวกับส่งออกที่ติดลบ 1-0.0% และเงินเฟ้อ 2.7-3.2"