นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนา โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง 66 ดีเบต นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง โดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า จากการสำรวจความคิดเห็น ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 เรื่อง “ความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง” โดยจากการสุ่มตัวอย่าง 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า การลดค่าครองชีพนโยบายที่พรรคการเมืองและรัฐบาลเข้ามาดูแล โดยทุกกลุ่มตัวอย่างเน้นค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำประปา ค่ารถไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม
โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกตั้งเป็นครั้งแรกให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพมากที่สุด รวมทั้งทุกช่วงวัยจะให้ความสำคัญกับนโยบายตรวจสุขภาพฟรี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการสร้างรายได้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเลือกนโยบายของแต่ละพรรคที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ได้เน้นไปทางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มีความหลากหลายทางความคิดตามช่วงวัย
ทั้งนี้ ในการทำผลโพลครั้งนี้ ผู้จัดทำแบ่งเป็น 8 นโยบาย ดังนี้
- นโยบายที่ 1 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เพิ่มเป็น 450-600 บาทต่อวัน 2.ขึ้นอัตราเงินเดือน เช่น วุฒิปริญญาตรีเพิ่มเป็น 25,000 บาทต่อเดือน 3.เพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เช่น 1,000-5,000 บาทต่อเดือน ส่วนโครงการที่ได้ความสนใจ เช่น ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เช่น 1,200 บาท/เดือน โครงการเราเที่ยวด้วยกันภาค 2 ธนาคารหมู่บ้าน/ธนาคารชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท
- นโยบายที่ 2 นโยบายแรงงาน/การจ้างงาน โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.สร้างตำแหน่งงานใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 2.นำผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าระบบประกันสังคม 3.เบิกเงินผู้ประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้
- นโยบายที่ 3 นโยบายลดค่าครองชีพ โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.ลดค่าไฟฟ้า 2.ลดราคาน้ำมัน และ 3.ลดราคาแก๊สหุงต้ม ส่วนนโยบายที่ได้รับความสนใจรองลงมา คือ ลดค่าน้ำประปา , เงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี , บัตรเดียวสามารถเติมเงินใช้บริการสาธารณพื้นฐานได้ทั้งหมดเพื่อการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น ลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยนโยบายลดค่าครองชีพ ประชาชนมักให้ความสนใจและให้ความสำคัญค่อนข้างมาก
- นโยบายที่ 4 นโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน จากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท 2.ปลดล็อคให้สมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)และสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำเงินสมทบส่วนหนึ่ง เช่น ไม่เกิน 30% ออกมาซื้อบ้าน/ลดหนี้บ้านได้ 3.ยกเลิกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- นโยบายที่ 5 นโยบายสวัสดิการ โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.ตรวจสุขภาพฟรี 2.รักษาฟรีทุกโรค บัตรทอง 30 บาทพลัส 3.ให้เงินอุดหนุนค่าปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ เช่น ช่วยไม่เกิน 50,000 บาท/หลัง ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญน้อย 3 อันดับ คือ 1.เรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี 2.บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน เป้าหมาย 5 ล้านคน (หวยบำนาญ) และ 3.ให้เงินรับขวัญเด็กแรกเกิด เช่น 3,000 บาทต่อคน โดยจากการสำรวจทุกกลุ่ม เน้นให้การดูแลในเรื่องสุขภาพ และการลดค่าครองชีพเป็นเรื่องที่สำคัญ
- นโยบายที่ 6 นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.จัดสรรเงินสนับสนุนการปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 2.จัดสรรเงินสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว 3.พัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยวสัญชาติไทย ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญรองลงมา คือ นำธุรกิจสีเทาเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยซอฟท์พาวเวอร์ และพัฒนาแพลตฟอร์มขายของออนไลน์สัญชาติไทย
- นโยบายที่ 7 นโยบายเกษตร โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.สร้างเกษตรรุ่นใหม่ 2.ประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง 3.ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกร เช่น ปีละ 100,000 บาทต่อกลุ่ม ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญน้อย คือ ขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ผลักดันราคาสินค้าเกษตร/ตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร และเกษตรกรขายคาร์บอนเครดิตได้ ส่วนการพักหนี้เกษตรกรนั้น มีบางกลุ่มให้ความสำคัญ
- นโยบายที่ 8 นโยบายช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจากการสำรวจ พบว่า 3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.SME เข้าถึงทุน 2.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อเดือน ชำระดอกเบี้ยภายใน 6 เดือนถึง 3 ปี 3.หวย SME ซื้อสินค้า SME แถมหวย
" นโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรกที่โดดเด่น คือ 1.ลดค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2.เพิ่มเติมสวัสดิการในด้านต่างๆให้กับประชาชน (โดยเฉพาะสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและเบี้ยผู้สูงอายุ) 3.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และพัฒนาทักษฝีมือแรงงาน ส่วนนโยบายที่รองลงมา เช่น แก้ไขปัญหาความยากจน-ปัญหาหนี้สิน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น"
ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากถามนักการเมือง คือ นโยบายต่างๆ เอาเงินมาจากไหน หรือ จากภาษีประชาชน หรือ เงินนอกงบประมาณ นโยบายที่พูดออกมานโยบายเร่งด่วน และที่จะทำ นโยบายเร่งด่วน สามนโยบายที่ทำแล้วการได้คืออะไร เศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหน และเสียแค่ไหน หนี้สาธารณะจะเพิ่มหรือไม่