ชงคมนาคม ไฟเขียว สร้างทางด่วน “ท่าเรือกรุงเทพ-อาจณรงค์” 3 พันล้าน

26 เม.ย. 2566 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2566 | 14:15 น.

“การท่าเรือ” จ่อชงคมนาคมเคาะ สร้างทางด่วน “ท่าเรือกรุงเทพ-อาจณรงค์” 3 พันล้านบาท ภายในเดือนมิ.ย.นี้ หวังแก้ปัญหารถติด คาดได้ข้อสรุปภายในปี 66

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท ขณะนี้ กทท. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับ คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือน หรือประมาณเดือน มิ.ย.66 จะสามารถเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาโครงการดังกล่าวได้ หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป  

 

ขณะเดียวกันโครงการฯ นี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่จะใช้งบประมาณของ กทท. และ กทพ. ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในการก่อสร้างร่วมกันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะหารือร่วมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปี 66 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวแม้จะไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มให้ กทท. และ กทพ. เพราะแค่เปลี่ยนจุดขึ้นลงทางด่วน แต่จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนอาจณรงค์ บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพและถนนโครงข่ายโดยรอบได้อย่างดี รวมถึงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถขึ้นลงทางด่วนในท่าเรือกรุงเทพได้
 

 รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ระยะทาง 2.25 กม. พื้นที่โครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของ กทท. เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ตามแผนจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา(ประมูล) ปลายปี 65 ก่อสร้างภายในปี 66 และเปิดให้บริการได้ประมาณปี 68 โดยโครงการนี้ไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน เพราะเป็นพื้นที่ของ กทพ. และ กทท. แต่อาจต้องเจรจากับผู้เช่า และผู้บุกรุกที่ใช้พื้นที่อยู่

 

ทั้งนี้โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณเทอร์มินอล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ แนวสายทางจะเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ก่อสร้างเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จรูปตัวไอไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแนวสายทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับ S1 ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถี และทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัช  
 

ส่วนด่านเก็บค่าผ่านทางฯ มี 4 จุด แบ่งเป็น 1.ด่านขาขึ้น บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ปตท.พระโขนง มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง, 2.ด่านขาขึ้น บริเวณประตูทางออกเทอร์มินอล 1 และ 2 มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 1 ช่อง, 3.ด่านขาลง บริเวณทางแยกต่างระดับอาจณรงค์ มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง และ 4.ด่านขาลง หรือด่านอาจณรงค์ 1 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มี 8 ช่อง โดยจะมีทางเชื่อมต่อเข้าท่าเรือกรุงเทพเป็น Ramp 1 ช่อง 

 

สำหรับค่าผ่านทางจะจัดเก็บอัตราเดียวกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร รถ 4 ล้อ 50 บาทต่อคัน รถ 6-10 ล้อ 75 บาทต่อคัน และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาทต่อคัน คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 1.4 หมื่นคันต่อวัน ในจำนวนนี้จะเป็นรถใหม่ที่ไม่เคยเข้าระบบทางด่วนสายนี้ ประมาณ 6,000 คัน