3 บิ๊กธุรกิจชงไอเดีย ดึงทุนนอก-รุกท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

23 เม.ย. 2566 | 19:26 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2566 | 19:26 น.

เปิดมุมมอง 3 บิ๊กธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศของพรรคการเมือง “ทายาทเจ้าสัวเจริญ” แนะวางกลยุทธ์เจาะต่างชาติพำนักระยะยาว “ชฎาทิพ” เสนอ 3 กลยุทธ์ต่อยอดท่องเที่ยวไทย “ศุภชัย” แนะส่งเสริมเทคโนโลยีฮับของประเทศ ดึงเม็ดเงินลงทุนระดับโลก

การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆที่เข้มข้นอย่างมากในขณะนี้ ในมุมมองของภาคธุรกิจอยากเห็นนโยบายพรรคการเมือง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้หยิบมุมมองของ 3 ซีอีโอ มานำเสนอ

แนะดึงต่างชาติพำนักระยะยาว-ลงทุนออฟฟิศในไทย

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็อยากให้พรรคการเมืองต่างๆมองเรื่องกลยุทธในการส่งเสริมการเติบโตและขับเคลื่อนเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะถือเป็นหัวใจและจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งการท่องเที่ยววันนี้ไม่ใช่แบบเดิมแล้ว เพราะไม่ใช่มีแค่ต่างชาติมาเที่ยวไทยเท่านั้น

วัลลภา ไตรโสรัส

แต่ยังมีความต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มต่างชาติที่มาพำนักระยะยาว อยากมาเป็นเรสสิเด้นท์ อยากมาเอนจอยไลฟ์ไตล์และใช้ชีวิตในไทย ซึ่งเมืองไทยวันนี้ยังไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่จะตามมา ก็ช่วยเสริมกำลังของเศรษฐกิจไทยได้

ดังนั้นไทยต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของวีซ่า การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และการอำนวยความสะดวกเรื่องของการใช้ชีวิตของทั้งกลุ่มที่พำนักระยะยาวหรือลงทุนในไทย ซึ่งก็หวังว่านโยบายของแต่ละพรรคจะโปรโมทเรื่องของการลงทุนและการเติบโตตรงนี้ให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้แบบเต็มศักยภาพ

อีกทั้งยังมองว่าหลังโควิด-19 กลุ่มลูกค้าที่เป็นสำนักงานข้ามชาติหรือการตั้งออฟฟิตในต่างประเทศก็มีความสำคัญ ซึ่งสิงคโปร์ได้ลูกค้ากลุ่มนี้ ก็มองว่าเมืองไทยก็ควรต้องดึงให้กลุ่มเหล่านี้มาเปิดออฟฟิตในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจที่ควรอยู่ในพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเฉยๆ

ยิ่งหลังโควิดคนมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งการให้บริการเรื่องสุขภาพของเมืองไทยถือว่าตอบโจทย์และมีคุณภาพระดับโลก อันนี้เป็นจุดแข็งที่น่าจะรีบส่งเสริมให้นโยบายกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเข้าถึงเรื่องของสุขภาพแผนโปรแกรม รวมถึงการวางกลยุทธที่ระบบการเงิน ที่เราอยากให้ตอบโจทย์เรื่องของการเทรดและการค้าได้สะดวกคล่องตัว

นอกจากนี้ยังมีมุมมองของภาคธุรกิจ ต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ที่ภาคเอกชนอยากเห็นในนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งทางหอการค้าได้จัดเวทีให้ 10 พรรคการเมืองรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ไปเมื่อไม่นานมานี้

เสนอ 3 กลยุทธ์ต่อยอดท่องเที่ยวไทย

โดยนางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ในบริบทที่โลกเปลี่ยนไป ทำให้ประเทศอื่นเริ่มมีความแข็งแรงในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และมีแม่เหล็กดึงดูดอยู่มากมาย ทุกวันนี้การแข่งขันมาจากรอบทิศ

ชฎาทิพ จูตระกูล

การรักษาความเป็น Top of mind of Tourism เป็นสิ่งที่ยาก แม้ประเทศไทยจะครองแชมป์มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 และในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยต้องจัดทำนโยบาย เชิงรุก ที่ชัดเจนและลงรายละเอียด ต่อยอด จากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาให้ได้ โดยนำเสนอแผนงาน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

1.Refresh Branding ให้มี จุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนขึ้น สร้างเรื่องราวและประสบการณ์ใหม่ๆ สื่อสารไปถึงทั่วโลก ซึ่งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการหาจุดแข็ง และเรื่องราวใหม่ๆ สร้างภาพประเทศไทย ให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง ที่ไม่ได้พูดแค่เรื่อง Thainess อย่างเดียว

สร้างกลยุทธ์การสื่อสารที่มีเป้าหมายและแนวทางเดียวกันในทุกสื่อ การตั้งทีมคณะทำงานที่เป็นองค์รวมของประเทศไทย รวมถึงสร้างเป้าหมายและแอคชั่นแพลนในทิศทางเดียวกัน พุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน ใช้งบประมาณอย่างไม่ซ้ำซ้อน ไม่แบ่งแยกกันทำ และทำให้การใช้งบประมาณรัฐเกิดความคุ้มค่าที่สุด

2.กลยุทธ์สร้างความสำเร็จ เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวอย่างทวีคูณสู่ความยั่งยืน ที่ต้องทำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ ระยะสั้น Hub of Art of Asia ไทยเป็นเจ้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และฝีมือในสินค้าศิลปะ สร้าง Hub of Art ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหลายมิติ

ระยะกลาง Hub of World-class Events นำงานระดับโลกให้มาจัดที่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Ultimate Destination ดึงนักท่องเที่ยวในมิติใหม่เข้ามา และระยะยาว Hub of Headquarters สร้างการลงทุนในระยะยาวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเอเชีย เกิดประโยชน์ในระยะยาว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง

3.การขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainability) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค้าสูง โดยหอการค้าไทยได้ดำเนินการผ่านแนวทางไทยเท่ และ happy model (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และ แบ่งปันสิ่งดีๆ) เพื่อให้การท่องเที่ยว ของประเทศไทยไม่ได้เน้นปริมาณ

แต่ควรจะเพิ่มคุณภาพของนักท่องเที่ยวให้อยู่นานและใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้นานาชาติ โดยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ เอกลักษณ์ไทย วัฒนธรรมไทย มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยสร้างความแตกต่าง และกระจายรายได้ไปทั่วประเทศได้มากขึ้น

นอกจากนั้นเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เติบโต อย่างยั่งยืน ควรที่จะสนับสนุนให้ TAGTHAi เป็น Thailand Digital Tourism Platform หลักของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยว และช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ และผู้ประกอบการไทย โดยรายได้จะยังคงหมุนเวียนในประเทศ

รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและสร้างความเท่าเทียมต่อคนทั้งมวล ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ และหามาตรการสนับสนุน อาทิ การลดภาษีให้แก่องค์กร และกิจกรรมที่ใช้แนวคิดอีเอสจีด้วย

แนะส่งเสริมเทคโนโลยีฮับของประเทศ

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความท้าทายของประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารอยู่อันดับที่ 15 ของโลก แต่อันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัล อยู่อันดับที่ 40

ศุภชัย เจียรวนนท์

โดยพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศด้านเทคโนโลยีในไทยลดลงจาก 14% เหลือเป็น 2% ของมูลค่ารวมอาเซียนเท่านั้น สูงกว่าเพียงเมียนมา ลาว และกัมพูชา จะเห็นว่าเรามีจุดที่สามารถปรับปรุงได้พอสมควร

“เรามีเรื่องที่จะผลักดัน เพื่อเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเก่งและความดี เรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย โดยการปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

ทั้งนี้เพื่อให้เร่งการเติบโตของประเทศไทยมุ่งสู่ยุคดิจิทัลควรที่จะส่งเสริมการเป็น เทคโนโลยีฮับของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย รวมถึงการพัฒนา Future Workforce โดยผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงทักษะ และสนับสนุนให้มีการ Learning by Doing

นายศุภชัย กล่าวว่า การสร้างความแข็งแกร่ง ทางการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การเป็น Food Security Hub จะต้องทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นด้านการเกษตร สร้างให้เกิดดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวางทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) อาทิ การสร้างซอฟต์พาวเวอร์สินค้าไทยที่สามารถส่งขายได้ทั่วโลก และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิรูปภาครัฐสู่ดิจิทัล ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาครัฐ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่ระบบราชการ

“ประเด็นด้านดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น และการศึกษาไทย เพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องวัดกันที่ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศ รับมือกับดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น พัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล ขณะเดียวกันต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาไทยให้ทันโลกด้วย” นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย