รฟม. รื้อแผนสร้าง แทรม 3 สาย 6.8 หมื่นล้าน ลดต้นทุน

16 เม.ย. 2566 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 16:20 น.
973

คมนาคม กางไทม์ไลน์ศึกษาแทรม 3 สาย 6.8 หมื่นล้านบาท หลังคมนาคมสั่งทบทวนรูปแบบการเดินรถรอบใหม่ หวังลดต้นทุนค่าก่อสร้าง เล็งดึงเอกชนร่วมทุน PPP คาดเปิดให้บริการราวปี 70-71

ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) พยายามเร่งผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชน 3 จังหวัดใหญ่ แต่พบว่า การผลักดันแต่ละโครงการยังติดปัญหา อุปสรรคในหลายเรื่อง ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง รูปแบบรถที่ให้บริการไม่สอดรับกับพื้นที่ที่จะให้บริการ รวมทั้งการเวนคืนที่ดินที่อาจจะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการระบบขนส่งมวลชน หรือ "แทรม" เส้นแรกของจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กิโล เมตร (กม.) วงเงินลงทุน 25,736 ล้านบาท

ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบของโครงการฯเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้คุ้มค่ากับการลงทุน คาดว่า จะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถใช้ระยะเวลาราว 1 ปีหรือภายในเดือนพฤษภาคม 2566-มิถุนายน 2567 

ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปแล้วตามแผนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือน พฤศจิกายน 2567-สิงหาคม 2568 ระหว่างนี้จะสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ด้วย และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2571

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค จึงมอบหมายให้ที่ปรึกษาทบทวนการออกแบบ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และวิเคราะห์รูปแบบการดำเนินโครงการ จากเดิมพบว่าผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนโครงการฯ มีมูลค่าการลงทุนสูง ทำให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถ และบำรุงรักษา (O&M) 

สำหรับโครงการแทรมเชียงใหม่มีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน มีระยะทางประมาณ 15.8 กิโลเมตร (กม.) โดยมีทางวิ่งระดับดินประมาณ 9.3 กิโลเมตร (กม.) ทางวิ่งใต้ดินประมาณ 6.5 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย สถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีบนดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี

โดยมีแนวเส้นทาง วิ่งตามแนวเหนือใต้ เริ่มต้นบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์ผ่านโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนจากระดับใต้ดินเป็นทางวิ่งระดับดิน แล้ววิ่งออกไปที่ถนนเชียงใหม่ - หางดง บนทางหลวงหมายเลข 108 ไปสิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี

รฟม. รื้อแผนสร้าง แทรม 3 สาย 6.8 หมื่นล้าน ลดต้นทุน

ขณะที่ความคืบหน้า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 35,344 ล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ปรับรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง (Automate Rapid Transit : ART) เพื่อช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รฟม.ได้ประกาศราคากลางงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมปรับปรุงแบบ โครงการฯ พร้อมบันทึกข้อความขอความเห็นชอบขอจ้างที่ปรึกษาฯ วงเงิน 55 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อสอดคล้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานศึกษา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือแจ้งวันเริ่มงาน (NTP) 

หลังจากดำเนินการศึกษา รูปแบบโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตฯแล้วเสร็จ จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนตุลาคม 2567-มิถุนายน 2568 ควบคู่กับการสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนพฤษภาคม 2568 และดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกรกฎาคม 2568 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2570

ทั้งนี้โครงการแทรมภูเก็ต แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น - เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 3 สถานี ซึ่ง รฟม.จะเริ่มดำเนินการโครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก

ส่วนความคืบหน้า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 7,218 ล้านบาท ขณะนี้รฟม. อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้คุ้มค่ากับการลงทุน โดยจะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถใช้ระยะเวลาราว 1 ปีหรือภายในเดือนพฤษภาคม 2566-มิถุนายน 2567 

หลังจากนั้นตามแผนของโครงการฯจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567-สิงหาคม 2568 ระหว่างนี้จะสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ด้วย และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2568 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2571

สำหรับโครงการแทรมนครราชสีมา มีโครงสร้างทางวิ่งระดับพื้นดิน (At Grade) ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 21 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน เข้าตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัยและแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาทั้ง 3 โครงการที่ผ่านมา พบว่า เทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบที่เป็นไปได้มากที่สุด ดังนี้ 1. รถไฟฟ้ารางเบา (Steel Wheel Tram), 2. รถรางชนิดใช้ล้อยาง (Tire Tram) และ 3. รถโดยสารไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (Electric Bus Rapid Transit : E-BRT)