ค้านรีดภาษีปลูกยาง ปลุกชาวสวนรับเอฟเฟ็กต์

08 เม.ย. 2566 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 15:48 น.
737

สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ผนึกอดีต ปธ.สหภาพ. กยท. ค้านรีดภาษีปลูกยางขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ ชี้ขัดพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่จำกัดคำว่า “สวนยาง” โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ต้นต่อไร่ ปลุกชาวสวนรับเอฟเฟ็กต์จ่ายภาษี ซ้ำเติมราคายางตกต่ำ

ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งในบัญชีแนบท้ายประกาศ กำหนดชนิดพืช “ยางพารา” มีอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ไว้ 80 ต้นต่อไร่ ถึงจะเสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี (อัตราต่ำสุด) ความหมายคือถ้าเกษตรกร ปลูกยางต่ำกว่าไร่ละ 80 ต้น ก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคืออัตรา ไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์  นายสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ข้อเท็จจริงการปลูกยาง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 ต้นต่อไร่และจนถึงระยะเวลาที่ได้ผลผลิต 7 ปีจะมีต้นยางตายหรือเสียสภาพเหลือเพียง 50 ต้นต่อไร่ซึ่งตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้กำหนดคำจำกัดความ “สวนยาง” โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ต้นต่อไร่ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายางธรรมชาติ (กนย.) ขอให้มีมติให้ กระทรวงการคลัง และ กระทรวงมหาดไทย  ได้ทบทวนปรับจำนวนต้นของ “ยางพารา” ขั้นต่ำจาก 80 ต้นต่อไร่ เป็น 25 ต้นต่อไร่ ตามที่เสนอข้างต้น

 

 

“ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในประกาศ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 แล้ว ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกบัญชีแนบท้าย ก ของประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2562 และให้ใช้บัญชีแนบท้ายก.ตามประกาศฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2566 แทน ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

 

นายอุทัย กล่าวว่า  สำหรับพืช“ยางพารา” ยังมิได้มีการพิจารณาปรับอัตราขั้นต่ำการประกอบการเกษตรต่อไร่ ยังคงใช้อัตราเดิมคือ 80 ต้นต่อไร่ ดังนั้น สมาคมฯจึงขอยืนยันให้ปรับอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรพืชยางพาราเป็น 25 ต้นต่อไร่ด้วยเหตุและผล ตามที่เสนอข้างต้น

จิตติน วิเศษสมบัติ

สอดคล้องกับนายจิตติน วิเศษสมบัติ  อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. (สร.กยท.)   กล่าวว่า  สวนยาง ในเมืองไทย ที่ขึ้นทะเบียน ไว้ 20 กว่า ล้านไร่ มีที่ไหนบ้างที่ปลูกยางเพื่อกรีด ถึง 80 ต้น/ไร่ ถ้ามีช่วยพาไปดูหน่อย เพราะอยู่ในสวนยางมาเกิน 60 ปี และเดินทางไปดูสวนยางมาทั่วประเทศไทย ก็ยังไม่เจอว่า ใครปลูกต้นยางพารา เกิน 80ต้น/ไร่

 

 

"สวนยางพารา ปลูกระยะ 3x7 เมตร จะ ได้เพียง 76 ต้น ต่อไร่ และมากกว่า 99 % ของชาวสวนยางจะปลูกในระยะนี้ สำหรับพื้นที่ราบ และเมื่อปลูกอายุยางได้ 3 ปีขึ้นไป ก็จะเหลือ เพียง 60 กว่าต้น /ไร่ และเป็นตัวเลขที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดแล้ว  ดังนั้นเห็นว่าอัตราการเก็บ ถ้าตรวจแล้ว เกิด 80ต้น/ไร่ เก็บภาษี 0.15 % ของฐานภาษี แต่ถ้าไม่ถึงก็ปรับมาเก็บ 1.2 % ของฐานภาษี อยากให้บอร์ด กยท.ที่เพิ่งแต่งตั้งมาจาก ครม. ช่วยชี้แจงให้กับกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยให้เว้นภาษี  ไม่งั้นชาวสวนยางมาโดนเก็บซ้ำซากทั้งที่ราคายางตกต่ำ 1.โดนเก็บเซสส์ กิโลกรัมละ 2 บาท (คลิกอ่าน) นำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริหาร บอร์ด -พนักงาน เจ้าหน้าที่ กยท. ทั้งประเทศ แล้ว 2.จะต้องมาโดนเก็บภาษีจากอีก 2 หน่วยงานซ้ำเติมเข้าไปอีก ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่คน กยท.จะต้องลุกปกป้องชาวสวนบ้าง"