พม. เปิดเวทีความรู้ระดับนานาชาติ ผลักดันงานสังคมสงเคราะห์พัฒนายั่งยืน

05 เม.ย. 2566 | 20:12 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 20:26 น.

กระทรวง พม.สร้างความเท่าเทียม ส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์และสังคม จัดเวทีสัมมนาวิชาการนานาชาติว่าด้วย “การส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัดพม.) เปิดเผยว่า พม. ได้จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติว่าด้วย “การส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 2 (2nd International Symposium on Social Work and Social Welfare for Sustainable development) ภายใต้แนวคิด “ความมั่นคงของมนุษย์ คือ ความมั่นคงของโลก” (Human Security is Global Security) เนื่องในโอกาสสัปดาห์สังคมสงเคราะห์ ปี 2566 โดยมี ผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. นักสังคมสงเคราะห์ นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุม

พม. เปิดเวทีความรู้ระดับนานาชาติ ผลักดันงานสังคมสงเคราะห์พัฒนายั่งยืน

รวมทั้งยังมีนักสังคมสงเคราะห์ผู้แทนจากองค์กรอาเซียน เฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา และผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสังคมสงเคราะห์อาเซียน เข้า ร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)

นายอนุกูล กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทนักสังคมสงเคราะห์และงานสวัสดิการสังคม ซึ่งในการสัมมนา มีวิทยากรหลากหลายสาขา ร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจด้านการดูแลเด็กความมั่นคงทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเงิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฎิบัติงานด้าน สวัสดิการสังคมในภูมิภาคอาเซียน

พม. เปิดเวทีความรู้ระดับนานาชาติ ผลักดันงานสังคมสงเคราะห์พัฒนายั่งยืน

กิจกรรมภายในงานจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่น่าสนใจ 4 ห้อง ห้องที่ 1 ความมั่นคงทางสังคมสำหรับความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้แนวคิด นโยบายการดูแลเด็กด้านเศรษฐกิจ, ห้องที่ 2 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับ ความมั่นคงของมนุษย์โลก ห้องที่ 3 ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงในบริบทโลกจากการแพร่ระบาดสู่วิถีชีวิตที่สุขภาพดี ห้องที่ 4 ความมั่นคงทางการเงิน คือ ความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้ งานสัมมนาฯ ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและสะท้อนถึงความสำคัญของสวัสดิการในบริบทสวัสดิการเด็ก ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางการเงิน ระหว่างกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และบุคลากรกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสวัสดิการที่ควรเข้าถึง ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจและสังคม

 

ถือเป็นการเน้นย้ำและสร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของการ "เคารพความหลากหลายผ่านการกระทำทางสังคมร่วมกัน" ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ สามารถนำความรู้ แนวทาง และมุมมองแนวคิดจากการเข้าร่วมโครงการ ไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาแนวทางการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมในอนาคต