"ส่งออก"ยังวิกฤติ กกร.คาดติดลบ 1-0% แนะหาตลาดใหม่มีศักยภาพ

05 เม.ย. 2566 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 13:15 น.

"ส่งออก"ยังวิกฤติ กกร.คาดติดลบ 1-0% แนะหาตลาดใหม่มีศักยภาพ มุ่งชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ด้านด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดเติบโต 3% ถึง 3.5% ตามกรอบเดิม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. ,หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.มีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า 

ทั้งนี้ จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยะประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ-1.0% ถึง 0.0% จึงมีความคิดเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตประมาณ 3.0% ถึง 3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า วิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น แม้ว่าทางการของสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ จะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดการลุกลามเหมือนวิกฤตสถาบันการเงินปี 2551 

แต่คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกไปแล้ว โดยนักลงทุนมองโอกาสเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการเงินมี risk appetite ในการปล่อยสินเชื่อลดลง เกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ Fed ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยมีน้อยมาก

ส่งออกยังวิกฤติ กกร.คาดติดลบ 1-0% แนะหาตลาดใหม่มีศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายหลังการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือนมีนาคม ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัว และคาดว่ามูลค่าการ "ส่งออก" สินค้าจะหดตัวในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นและถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรกเข้ามาถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคน ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดพฤษภาคม–สิงหาคม 2566

โดยมีมติเห็นชอบค่า Ft เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย กกร. มีความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรพิจารณาทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยมีเหตุผล ดังนี้

  • จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น  การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้ คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 
  • ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง พฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้ 

นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมี ส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานรวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุก ภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากครม. เห็นควรให้ขยายเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปีจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ต้องการปรับตัว 

โดยไม่มีการขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้ ทั้งนี้เห็นควรให้โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการมารวมไว้ภายใต้มาตรการสินชื่อพื้นฟูต่อไป ทำให้วงเงินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะเป็นประมาณ 45,000 ล้านบาท

พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พรก.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้การจัดการภัยการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 และมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 

โดยสมาคมธนาคารไทย ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในเรื่องต่างๆ ของธนาคารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ติดตามเส้นทางเงินและอายัติเงินของผู้เสีบหายในระบบ ทำได้เร็วขึ้นและจัดการผู้ต้องสงสัยและบัญชีม้าภายในภาคธนาคารให้ลดลง ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ภัยทางการเงินจะเกิดขึ้นน้อยลงด้วย