นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่แบ่งเป็น 2 อัตรา ได้แก่ กลุ่มบ้านอยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิอุตสาหกรรม บริการ อื่นๆ) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ จะเห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศได้ทยอยปรับลดลงแล้วตั้งแต่งวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ที่กลับมาเป็นอัตราเดียว เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ขณะที่งวดถัดไป หรืองวดที่เหลือของปี 2566 นี้ คาดว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) จะปรับลดลง โดยปัจจุบันก็ลดลงแล้ว และมีแนวโน้มจะลดลงอีก เนื่องจากว่ากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ(G1)
ซึ่งตามข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า กำลังการผลิตก๊าซฯในเดือน ก.ค.2566 นี้ จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือน ธ.ค. 2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นในเดือน เม.ย. 2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการใช้พลังงานภาพรวมของประเทศในปี 2566 จะเติบโตขึ้นจากปี 2565 ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา
และการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นได้จากปี 2565 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ระดับประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าช่วงยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พีคไฟฟ้าอยู่ที่ในระดับ 32,000 เมกะวัตต์
โดยปี 2566 นี้ ก็เกิดพีคเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 เวลา 15.43 น. ที่ระดับ 31,054.6 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น การฟื้นตัวของภาคบริการ ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง