กรมเจรจาฯเตรียมถก FTA ไทย – ศรีลังกาครั้งที่ 4 ปลายเดือนนี้

25 มี.ค. 2566 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 11:47 น.

พาณิชย์ เตรียมถก  FTA ไทย – ศรีลังกา รอบที่ 4 ที่โคลัมโบ 27 – 29 มี.ค. นี้ เร่งหารือสินค้า บริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปีหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เตรียมนำคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย – ศรีลังกา รอบที่ 4 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2566 โดยการประชุมครั้งนี้ จะมีทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiating Committee)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 ซึ่งกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า กฎหมาย และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะหาข้อสรุปการเจรจาให้ได้ภายในต้นปี 2567

กรมเจรจาฯเตรียมถก FTA ไทย – ศรีลังกาครั้งที่ 4 ปลายเดือนนี้

ไทยและศรีลังกาได้เปิดการเจรจา FTA ในปี 2561 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการปรับหน่วยงานที่ดูแลการเจรจาของศรีลังกา ทำให้การเจรจาในช่วงที่ผ่านมามีความคืบหน้าล่าช้า โดยไทยและศรีลังกาได้มีการเจรจากันไปแล้ว 3 รอบ ซึ่งในการประชุมรอบที่ 3 ณ ศรีลังกา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศรีลังกาแสดงความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเจรจา FTA กับไทย และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2567 เนื่องจากเห็นว่า FTA เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะมีส่วนช่วยในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
 

 

กรมเจรจาฯเตรียมถก FTA ไทย – ศรีลังกาครั้งที่ 4 ปลายเดือนนี้

ทั้งนี้ ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 358.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 271.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์