นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หารือกับนายซูซูกิ โยชิฮิสะ และนายซูซูกิ จุน ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น - ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) พร้อมผู้แทนภาคเอกชนชั้นนำจากญี่ปุ่น 11 บริษัท รวม 19 ราย ในโอกาสเยือนไทยเพื่อหารือประเด็นด้านยุทธศาสตร์การค้าของไทยและแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยประเด็นที่ฝ่ายญี่ปุ่นหยิบยกมาหารือโดยทางญี่ปุ่นขอให้ทางไทยเร่งเจรจาเปิดตลาดเพื่อการขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย
ปัจจุบันไทย FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยความตกลง อาร์เซ็ป เป็น FTA ฉบับล่าสุด ส่งผลให้ไทยมีการค้ากับ 18 ประเทศที่มี FTA ด้วย ครอบคลุม61% ของการค้าไทยกับโลก
อีกทั้ง ไทยยังมีแผนจัดทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญ โดยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับประเทศสำคัญ ๆ เช่น แคนาดา (ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา) และเอฟต้า ล่าสุดผมเป็นผู้ผลักดันให้มีการเจรจา FTA กับอียูและยูเออี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ครอบคลุมอีก13.5% ของการค้าไทยกับโลก
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้มีการจัดทำความร่วมมือที่เรียกว่า มินิเอฟทีเอ ที่ช่วยเจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ โดยเป็นความร่วมมือ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การส่งเสริมการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การอำนวย ความสะดวกทางการค้า และความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งปัจจุบันลงนามแล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ โคฟุ (ของญี่ปุ่น) ไห่หนาน เตลังคานา กานซู่ ปูซาน คยองกี เซินเจิ้น และอยู่ระหว่างดำเนินการ 6 ฉบับ (ยูนนาน รัฐกรณาฏกะ รัฐคุชราต รัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ รัฐอัสสัม)
โดยไทยขอเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการที่ และยกระดับการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เกษตรอัจฉริยะ โลจิสติกส์ และพลังงานสะอาดที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG โมเดลของไทย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมร่วมสานต่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานโลกที่เข้มแข็งและเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ไทยพร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และนักลงทุนสตาร์ทอัพของไทยและญี่ปุ่นที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการให้ทันสมัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ ของไทยและญี่ปุ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมชั้นนำอีกด้วย
ในขณะฝ่ายไทยหยิบยก การส่งเสริมการค้าและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่น - ไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันหลังวิกฤตโควิด-19 โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทย-ญี่ปุ่น ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าและบริการด้านสุขภาพและสำหรับผู้สูงอายุ และสินค้าตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หรือ BCG เพื่อขยายตลาดไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นหรือไทยเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพในประเทศอื่น ๆ ด้วย
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2565 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีน และสหรัฐอเมริกา) การค้ารวมมีมูลค่า 59,253.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,069,120.69 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า 2.30% แบ่งเป็นการส่งออก มูลค่า 24,669.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (855,401.60 ล้านบาท) และการนำเข้า มูลค่า 34,584.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,213,630.30 ล้านบาท) โดยไทยขาดดุลการค้า 9,915.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (358,228.70 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป (ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ที่ตัดหรือปรุงแต่ง) ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ ยานยนต์ เครื่องพิมพ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ลวดและเคเบิล อุปกรณ์ไฟฟ้า สัตว์ปีกสด แช่เย็น หรือแช่แข็ง และยางธรรมชาติ
สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กแผ่นรีดร้อน อุปกรณ์ไฟฟ้า (วงจรไฟฟ้า) ทองแดงบริสุทธิ์ ทองคำ เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ ผลิตภัณฑ์เหล็ก
สำหรับสถิติการลงทุนญี่ปุ่นในไทยจากสถิติกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ญี่ปุ่นมีการลงทุนรวมในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าสูงถึง 27,777.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (970,000 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย และมีบริษัทญี่ปุ่นในไทยกว่า 6,000 บริษัท จากทั้งสิ้น 14,846 บริษัทในอาเซียน ประเภทธุรกิจที่ญี่ปุ่นลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก , ธนาคารพาณิชย์ ,การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น , การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น และ การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น