GISTDA เผยจุดความร้อนในไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 966 จุด

21 มี.ค. 2566 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 13:03 น.

GISTDA เผยข้อมูลจุดความร้อนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เพิ่มสูงขึ้น 966 จุด พบในพื้นที่ป่าสงวนมากสุด

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ 20 มีนาคม 2566 อากาศในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุด  GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 20 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อน จำนวน 966 จุด ในขณะที่ประเทศลาวจุดความร้อนยังคงนำอยู่ที่ 2,208 จุด ตามสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 1,158 จุด กัมพูชา 843 จุด เวียดนาม 583 จุด และมาเลเซีย 19 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าสงวนแห่งชาติ 287 จุด, พื้นที่เกษตร 244 จุด, พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 234 จุด, พื้นที่เขต สปก. 97 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 94 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด

ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ

  • แม่ฮ่องสอง 120 จุด
  • น่าน 64 จุด
  • และ กาญจนบุรี 63 จุด

GISTDA เผยจุดความร้อนในไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 966 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10:00 น. ที่ผ่านมา พื้นที่บางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนืออยู่ในระดับเริ่มส่งผลต่อสุขภาพ มุกดาหาร หนองบัวลำภู หนองคาย เชียงใหม่ อุดรธานี พะเยา นครพนม สกลนคร เลย และ เชียงราย เป็นต้น ในขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในระดับดีมาก

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น.

ที่มา:GISTDA