ท่องเที่ยวQ1ฟื้นเร็ว เที่ยวบินพุ่ง 7.8 ล้านที่นั่ง ลุ้นทัวริสต์ 30 ล้านคน

20 มี.ค. 2566 | 19:16 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 06:56 น.

ท่องเที่ยวไทย Q1 ฟื้นตัวเร็วเกินคาด เที่ยวบินเข้าไทย เพิ่ม 1 ล้านที่นั่ง รวมเป็น 7.8 ล้านที่นั่ง ททท.ชู 4 กิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้งบอัดฉีด 3,946 ล้านบาท มั่นใจปี 2566 มีลุ้นต่างชาติ แตะ 30 ล้านคน โรงแรมตีปีกนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย ดันค่าห้องพักพุ่ง

ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาส1 ปี 2566 มีทิศทางการฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก โดยในเดือนมกราคม 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 2.14 ล้านคน ขยายตัว 1,502.76%

ท่องเที่ยวไทย Q1 ฟื้นตัวเร็วเกินคาด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวขณะนี้ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก จากที่ททท.คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 4.87 ล้านคน เพราะเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเดือนละ 2 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย ตามมาด้วยรัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และจีน ที่ทยอยเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น หลังจีนเปิดประเทศ

ยุทธศักดิ์ สุภสร

ททท.จึงคาดว่าไตรมาส 1/2566 นี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 6 ล้านคน และตลอดทั้งปีนี้ไทยน่าจะมีลุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีลุ้นถึง 30 ล้านคน แต่จะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินเข้าไทยยังฟื้นตัวกลับมาไม่มากเท่ากับปี 2562 โดยกลับมาเพียงครึ่งหนึ่งของปี 2562 คาดว่าต้องใช้เวลา

เนื่องจากสายการบินอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเครื่องบินกลับมาให้บริการ พร้อมรับสมัครพนักงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมถึงความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเงินเฟ้อสูงในตลาดลูกค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร กลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ชงขยายระยะเวลาพำนักวีซ่าในไทย

นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่าไตรมาสแรกปีนี้ การท่องเที่ยวมีปัจจัยหนุนจากไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การขยายระยะเวลาพำนักวีซ่าในไทย ทั้ง วีซ่าท่องเที่ยวจากไม่เกิน 30 วันเพิ่มเป็น ไม่เกิน 45 วัน และ Visa on Arrival จากเดิมไม่เกิน 15 วันเพิ่มเป็นไม่เกิน 30 วัน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.66

โดยททท.เตรียมจะผลักดันให้ขยายในเรื่องนี้ต่อออกไปอีก รวมถึงการบินไทย ไทยสมายล์ และ VFS Global ลงนามความร่วมมือในโครงการ e-Visa On Arrival (e-VOA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ถือหนังสือเดินทางจีน อินเดีย ไต้หวัน และอีก 14 ประเทศที่ต้องการเดินทางเข้าไทยผ่าน e-VOA

การขยายพื้นที่ให้บริการตรวจลงตรา e-Visa ในสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศเพิ่ม 9 แห่ง ได้แก่ ปราก โรม ลิสบอน บูดาเปสต์ บูคาเรสต์ เอเธนส์ มาดริด วอร์ซอ และฮ่องกง รวมเป็น 38 แห่งทั่วโลก การกำหนดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล (Medical Treatment Visa) อัตราใหม่ รายละ 5,000 บาท จากเดิมรายละ 6,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี ครั้งละไม่เกิน 90 วันสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล

เที่ยวบินพุ่ง7.8 ล้านที่นั่ง

สำหรับภาพรวมยอดจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้ามายังไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มียอดจองขยายตัวเพิ่มขึ้น 291% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของก่อนโควิดในปี 2562 อยู่ที่ 55% โดยมีจำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทยช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.66 เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านที่นั่ง จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า

เพื่อรองรับการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีจำนวนที่นั่งบินรวม 7.8 ล้านที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้น 15% จากจำนวน 6.7 ล้านที่นั่งในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.65 ภูมิภาคที่มีจำนวนที่นั่งบินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและยุโรป (ระบบ OAG ณ วันที่ 7 ธ.ค.65)

ในส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศไตรมาสแรกปีนี้ มีปัจจัยสนับสนุนเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 การส่งเสริมตลาดในประเทศของททท.ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ผนวกกับธุรกิจโรงแรมที่กลับมาพื้นตัวได้ต่อเนื่องประมาณ 60-70% ซึ่งคนไทยจะเน้นเที่ยวใกล้ ทริปสั้นๆ หรือเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับเพิ่มมากขึ้น

ชู 4 กิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ในปีนี้ททท.ได้รับงบเพิ่มเติม 3,946 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยว ที่ได้นำไปใช้ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 2,016 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้รวม 12,539 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ทางตรง 9,205 ล้านบาทและรายได้ทางอ้อม 3,334 ล้านบาท

ส่วนวงเงินอีก 1,930 ล้านบาท จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายการสร้างรายได้ภายในประเทศไทยรวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.50 ล้านล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศ 8.8 แสนล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกับผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย(นักท่องเที่ยว+นักทัศนาจร)และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ รวมถึงเพื่อกรุจายรายได้ให้ทั่วถึงจากการเดินทางท่องเที่ยว โดยการเพิ่มความถี่ในการเดินทางเพิ่มวันพำนักและกระตุ้นการใช้จ่าย

ทั้งนี้สำหรับโครงการโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930 ล้านบาท จะเน้นดำเนินกิจกรรมใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยจากต่างประเทศ 518.7 ล้านบาท 2.กระตุ้นไทยเที่ยวไทย 582.3 ล้านบาท 3.สื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ 383.7 ล้านบาท และ 4.ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว 445.6 ล้านบาท ซึ่งหลักๆจะเน้นผลักดันให้มีการเปิดเที่ยวบินเข้าไทยเพิ่มขึ้นทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำ

ท่องเที่ยวปี 2566 ลุ้นทัวริสต์ 30 ล้านคน

“ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท โดยมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท หากรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในกรณีที่ดีที่สุด (best case scenario) จำนวน 25-30 ล้านคน คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.5 ล้านล้านบาท” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

โรงแรมทยอยปรับราคาขึ้น

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือCENTEL เปิดเผยว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจโรงแรมในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ที่ว่าสดใส และธุรกิจฟื้นเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยในปีนี้เราตั้งเป้าหมายการเติบโต 30-40% แต่ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่กลับมาเท่ากับปี2562

ท่องเที่ยวQ1ฟื้นเร็ว เที่ยวบินพุ่ง 7.8 ล้านที่นั่ง ลุ้นทัวริสต์ 30 ล้านคน

เนื่องจากเที่ยวบินเข้าไทยยังไม่กลับมาเท่าเดิม แต่สิ่งที่ได้คือด้วยราคาตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้นและเที่ยวบินที่กลับเข้าไทยมา 60-70% ทำให้ไทยได้นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางเที่ยวด้วยเอง (เอฟไอที) ทำให้โรงแรมขายห้องพักในราคาที่สูงขึ้นได้

อย่างบางโรงแรมของเราก็มีอัตราค่าห้องพักที่สูงกว่าปี 2562 ไปแล้ว ซึ่งก็เป็นผลดีต่อภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ