มรสุม”ศักดิ์สยาม”สะเทือนภท.”เขากระโดง-สายสีส้ม”จ่อคิว

09 มี.ค. 2566 | 18:50 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2566 | 19:33 น.
652

มรสุม คดี ‘ศักดิ์สยาม’ สะเทือน ภูมิใจไทย - หมู่บ้านบุรีรัมย์  หลังศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เซ่นปมร้อน ซุกหุ้น บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น-เขากระโดง-ธุรกิจการบิน  สกัดสายสีส้มเข้าครม.ก่อนยุบสภา  

 

ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566  มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หยุดปฏิบัติหน้าที่  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) กรณี มีหุ้นส่วน ,เป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง 

ขณะนายศักดิ์สยามออกมาชี้แจงทันควันว่า ได้ถอนหุ้นพ้นจากหจก. ดังกล่าวทั้งหมดแล้วและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่บริบท ของความเชื่อมโยง ที่ศาลพิเคราะห์และเชื่อได้ว่า มีมูลความจริงตามคำร้อง 

หากย้อนไปยังแหล่งข้อมูลอ้างอิงจนเป็นชนวนคำสั่งศาลให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ เกิดจากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงในครั้งนั้นว่า นายศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นหจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ  พร้อมกับไล่เรียงพฤติกรรม             

เริ่มจาก ปี 2539 ก่อตั้ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชั่น โดยมีตระกูลชิดชอบถือหุ้น 80% ใช้บ้านของนายศักดิ์สยาม ในขณะนั้นเป็นที่ตั้งสำนักงาน ปี2540 เมื่อมีตำแหน่งการเมือง นายศักดิ์สยามได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น และย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่อื่นปี 2558 นายศักดิ์สยามกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง ปี 2558-2560

ได้งานยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 440 ล้านบาท ปี 2559-2560 มีรายได้รวม 576 ล้านบาท ปี 2561 เมื่อมีกระแสข่าวว่าจะเลือกตั้ง นายศักดิ์สยามได้โอนหุ้นทั้งหมดมูลค่า 119.4 ล้านบาท ไปให้นอมินีที่ชื่อ “นายเอ” และย้ายที่ตั้งสำนักงานออกจากบ้านตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี 23 วัน

พร้อม ตั้งคำถามว่า นี่เป็นการเปลี่ยนชื่อ คนถือหุ้นให้เป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้น หากมีการซื้อขายกันจริงไม่ว่าจะต่ำหรือสูงกว่าราคาทุน 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือผู้ถือหุ้นคนใหม่

จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี หรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน นายศักดิ์สยาม ต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สิน แล้วแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

อย่างไรก็ตามในการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายศักดิ์สยามต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งส.ส. เมื่อปี 2562 แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 115.7 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดและเงินฝากราว 76.3 ล้านบาท และมีรายการทรัพย์สินอื่นๆ ทำให้นายปกรณ์วุฒิ เกิดข้อสงสัยว่า เงิน 120 ล้านบาท ล่องหนหายไปไหน และตั้งคำถามว่ากรณีนี้จะอยู่ในข่าย ซุกหุ้น หรือมีผู้ถือหุ้นแทนหรือไม่  

นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่ามีการซื้อขายกันจริง จากนายศุภวัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคดีมหากาพย์ ข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีคนในตระกูลดังกล่าวครอบครอง จำนวน 2 แปลง  ทำให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้นายศักดิ์สยาม ใช้อำนาจความเป็นรัฐมนตรี สั่งการให้รฟท.ฟ้องดำเนินดีและขับไล่ผู้บุกรุกพ้นพื้นที่  และล่าสุด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้เปิดข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการถือครองโฉนดที่ดิน เขากระโดง รวม 12 แปลง เนื้อที่รวม 179 ไร่ล้วนเกี่ยวข้องกับ นายศักดิ์สยามแทบทั้งสิ้น ขณะรฟท.กลับฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งเป็นรัฐด้วยกันต่อศาลปกครอง

ข้อหาออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรถไฟโดยมิชอบ เรียกค่าเสียหายวงเงิน 700 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเรื่องอยู่ในชั้นศาล และหากศาลมีคำสั่งให้รฟท.เป็นฝ่ายชนะคดีแน่นอน ว่าที่ดินทั้งผืนบนเขากระโดง 5083 ไร่ ต้องลุกเป็นไฟ

อย่างไรก็ตามแม้มีหลายเรื่องที่รุมเร้านายศักดิ์สยาม แต่ที่เป็นชนวนสำคัญ อาจจะพลิกบทบาทการเมือง จากหน้ามือเป็นหลังมือ คือ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับพรรคภูมิใจไทยและหมู่บ้านบุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก

เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งนายศักดิ์สยามเป็นตัวจักรสำคัญของพรรคและความหวังที่จะมากุมบังเหียนกระทรวงดังกล่าว ในรัฐบาลสมัยหน้า หากเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

ขณะปัจจุบัน ได้มีโปรเจ็กต์สำคัญ  ที่อยู่ระหว่างผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)  วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่หลายฝ่ายจับตาว่าจะเข้าครม.ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ เพื่อขออนุมัติลงนามในสัญญาเพื่อลงมือก่อสร้างหลังจากได้ตัวเอกชนผู้ก่อสร้างช่วงตะวันตกและสัมปทานเดินรถทั้งระบบ

แม้ว่านายศักดิ์สยามจะมอบนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่รับช่วงต่อก็ตาม เชื่อว่าไม่ง่ายนัก เพราะสายสีส้มยังรอศาลปกครองพิจารณาคดี ทั้งล้มประมูลรอบแรกโดยมิชอบ และออกหลักเกณฑ์การประมูลรอบสองในลักษณะกีดกัน ที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งนายอธิรัฐมองว่า จะรอคำตัดสินของศาลทั้งหมดก่อน

รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหว นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง กรณีข้อกล่าวหา เงินทอนรถไฟฟ้าสายสีส้มนอกจากเงินส่วนต่างที่เกิดจากการประมูลระหว่างรอบแรกและรอบที่สองที่ 68,613  ล้านบาท ที่เป็นที่กังขาในวงสังคมและเป็นชนวนที่ทำให้รัฐอาจเสียงบประมาณแผ่นดินก้อนใหญ่ที่ล้วนมาจากภาษีของประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนายศักดิ์สยาม ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด นายชูวิทย์ ได้นำข้อร้องเรียนเสนอต่อนายอธิรัฐ  รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 15  วัน   โดยมี 4 ประเด็ฌน  ประกอบด้วย 1.ยับยั้งโครงการสายสีส้ม 2.ตรวจสอบ หจก.บริษัทบุรีเจริญฯ ของนายศักดิ์สยาม 3.ดำเนินคดีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท. เรื่องการออกโฉนดที่ดินเขากระโดง

4.ตรวจสอบนางสุขสำรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต ลงนามสั่งการแทนรัฐมนตรี เร่งรัดโครงการของกรมทางหลวงชนบทที่มีงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท

คดี เกี่ยวกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ