เคลียร์ดราม่า รับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ หลังผู้ค้าโวย

08 มี.ค. 2566 | 08:30 น.
1.2 k

สมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ เคลียร์ดราม่า หลังผู้ค้าโวยรับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ 3.20 บาท จับพิรุธ อ้างมีไข่ผีสะสมหลายล้านฟอง ส่วนเกินอีกวันละ1-2 ล้านฟอง แต่รับซื้อส่งโรงงานแปรรูปได้แค่ 1ล้านฟอง ตั้งคำถามไข่ล้นจริง หรือเกมปั่นราคา

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์(เอ้กบอร์ด)ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมได้มีการรายงานสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไข่ไก่ล้นตลาดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลแม่ไก่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

เคลียร์ดราม่า รับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ หลังผู้ค้าโวย

ปัจจุบัน จำนวนไก่ไข่ยืนกรงมี 52.66 ล้านตัว ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ 43.71 ล้านฟองต่อวัน ความต้องการบริโภคในประเทศ 42.64 ล้านฟองต่อวัน ดังนั้นจึงมีไข่ไก่ส่วนเกินและสะสมอยู่ในระบบ 1.07 ล้านฟองต่อวัน นอกจากนี้ยังมีไข่ไก่จากแม่ไก่เนื้อเข้ามาเติมอีกเนื่องจากไก่เนื้อมีปัญหาล้นตลาดเช่นกัน จึงมีการชะลอปลดระวางไก่เนื้อ แล้วนำไข่เชื้อของไก่เนื้อมาจำหน่ายเป็นไข่บริโภคเพิ่มขึ้น

เคลียร์ดราม่า รับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ หลังผู้ค้าโวย

กรมปศุสัตว์ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาของเอ้กบอร์ด ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรงปลดระวางไก่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ที่เลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป ให้เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ผลักดันการส่งออก 20 ล้านฟอง หรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในวงการไก่ไข่อีกครั้ง

 

เคลียร์ดราม่า รับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ หลังผู้ค้าโวย

นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ หรือ “พ่อเลี้ยง ราชาไข่ไก่” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์เอ้กส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะรองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับมอบหมายจากสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ให้ประสานทั้งฟาร์ม/ผู้ค้าไข่ไก่ ประกาศรับซื้อไข่สดคละ น้ำหนัก 20.5 กก.ในราคา 3 บาท/ฟอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าโรงงานแปรรูปในประเทศ เริ่มต้นรับซื้อ จำนวน 1.6 ล้านฟอง (บริษัท เอส.ดับบลิว. ฟู้ดเทค จำกัด จำนวน 1 ล้านฟอง และ บมจ.ซีพี นครนายก จำนวน 6 แสนฟอง)  หลังจากนั้นก็จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

 

ใบประกาศรับซื้อไข่ไก่คละ ล่าสุด

อย่างไรก็ดีหลังประกาศรับซื้อมาหลายวันกลับไม่มีไข่ไก่มาขายให้ โดยเพิ่งรับซื้อได้ 1 ล้านฟอง จึงไม่มีไข่ไก่ส่งให้โรงงานเพิ่ม กลายเป็นภาระในการจัดหา ดังนั้นจึงมองว่าไข่ไก่ไม่ได้ล้นตลาด แต่คงเป็นเกมเพื่อกดราคาไข่ลง โดยอ้างว่าที่โน่น ที่นี่ขายถูก แต่พอไปตามที่ฟาร์มกลับไม่มีของ และที่รับซื้อต่ำกว่าราคาประกาศ ก็เพื่อรับซื้อไข่ไก่ส่วนเกิน ก็ต้องซื้อราคานี้ ดังนั้นขอชี้แจงผู้ค้าไข่ไก่ว่า ทำไมต้องรับซื้อไข่ไก่ที่ 3 บาทต่อฟอง ต่ำกว่าราคาประกาศที่ 3.20 บาทต่อฟอง

 

“ที่ผ่านมามีข่าวว่ามีไข่ไก่ผีออกมาขาย ขายดัมพ์ต่ำกว่าราคาตลาดฟองละ 40-50 สตางค์ออกมาเพียบ ตอนนี้ได้งบประมาณมาช่วยซื้อไข่ไก่ที่ราคา 3 บาทต่อฟอง เพื่อให้ไข่ส่วนเกินหายไป ใครล้นมากเดิมขายไข่ไก่คละได้ฟองละ 2.70-2.90 บาท  ก็เชิญชวนมาขายทางนี้ แต่น่าแปลกใจว่ารับซื้อไข่ได้แค่ 1.6 ล้านฟอง ได้ไม่ครบสักทีหลายวันแล้ว ทั้งที่บอกว่ามีไข่สะสมหลายล้านฟอง ส่วนเกินอีกวันละ 1-2 ล้านฟอง ตกลงว่าไข่มันล้นจริง ๆ หรือปั่นราคากัน ทำไมคนขายดัมพ์เยอะ ๆ ไม่เทไข่มาทางนี้”

 

เคลียร์ดราม่า รับซื้อไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศ หลังผู้ค้าโวย

อนึ่ง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566  ผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ได้ออกหนังสือขอรับเงินสนับสนุนเข้ากองทุนฯ จากผู้ประกอบการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ทั้ง GP และ PS ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 – มกราคม 2566 จำนวน 61,264,350 บาท ซึ่งผู้ประกอบการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ทั้ง GP, PS ได้ทยอยจ่ายเงินเข้ามายังกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ได้รับเงินจากผู้ประกอบการ เข้าบัญชีเงินฝากแล้ว จำนวน 59,587,678 บาท ปัจจุบันกองทุนฯ คงเหลือเงินทั้งสิ้น 45,469,477.42 บาท