UTA จับมือ สนามบินนานาชาติฮ่องกง อัพเกรด “สนามบินอู่ตะเภา”

03 มี.ค. 2566 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 14:26 น.

UTA จับมือ สนามบินนานาชาติฮ่องกง ลงนามความร่วมมือ ยกระดับพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารแตะ 60 ล้านคนต่อปี หวังขึ้นแท่นศูนย์กลางทางการบิน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) พร้อมคณะผู้บริหาร ได้แก่ นายกวิน กาญจนพาสน์,  นายประดิษฐ์ ทีฆกุล, นายภาคภูมิ ศรีชำนิ ร่วมกับ Mr. Simon Li ผู้อำนวยการโครงการ สนามบินนานาชาติฮ่องกง ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ระหว่าง “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และสนามบินนานาชาติฮ่องกง” โดยมี Mr. Jack So ประธานกรรมการ สนามบินนานาชาติฮ่องกง พร้อมคณะผู้บริหารจากทั้งสององค์กร ร่วมเป็นสักขีพยาน

UTA จับมือ สนามบินนานาชาติฮ่องกง อัพเกรด “สนามบินอู่ตะเภา”

นายคีรี  กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับสนามบินฮ่องกงในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินที่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพตามหลักสากล โดยทางสนามบินฮ่องกง จะทำการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีให้กับทาง UTA รวมถึงจะเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ภายใต้ข้อตกลง MOU  เพื่อให้ทาง UTA นำไปพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
 

Mr. Jack So ประธานกรรมการ สนามบินนานาชาติฮ่องกง กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญของประเทศไทย โดยยินดีแบ่งปัน ประสบการณ์ และความชำนาญในด้านการจัดการ รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาต่อไป

UTA จับมือ สนามบินนานาชาติฮ่องกง อัพเกรด “สนามบินอู่ตะเภา”

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดกว่า 60 ล้านคนต่อปี 
 

UTA จับมือ สนามบินนานาชาติฮ่องกง อัพเกรด “สนามบินอู่ตะเภา”

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ในระยะสุดท้าย จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก สานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่า และเมืองธุรกิจสำคัญของไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบิน และประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย