ชาวบ้านอ่วม “คมนาคม” สั่งการรถไฟ-ทางหลวง เร่งแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน

02 มี.ค. 2566 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 17:01 น.

“คมนาคม” ถกการรถไฟ-ทางหลวง สางปัญหาบุกรุกที่ดิน 14 เรื่อง หลังพบหลายชุมชนได้รับผลกระทบเพียบ ยันดำเนินการตามกฎหมาย เร่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการโดยมีการรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ทั้งหมด 14 เรื่อง

 

“ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมภิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป” 

สำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งหมด  13 เรื่อง ประกอบด้วย
1.นโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของ รฟท. เบื้องต้นรฟท.ได้แจ้งยืนยันข้อมูลต่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 66 คาดว่าจะดำเนินการเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการฯ ภายในเดือน มีนาคม - เมษายน 2566 หลังจากนั้นจะเสนอเป็นข้อมูลต่อสำนักงบประมาณพิจารณาก่อนรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ชาวบ้านอ่วม “คมนาคม” สั่งการรถไฟ-ทางหลวง เร่งแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน

2. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร และชุมชนแดงบุหงา เขตพญาไท จำนวน 212 ครัวเรือน เนื่องจากเดิมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวสูงของ กคช. ติดปัญหากรณีการถมบึงมักกะสัน รฟท. พอช. และภาคประชาชน จึงขอเสนอแนวทางการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบ (บ้านมั่นคง) ริมบึงมักกะสันแทนรูปแบบแนวสูงเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้ได้ดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวและเข้าอยู่อาศัยแล้ว จำนวน 16 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 2 จะดำเนินการบรรเทาผลกระทบผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในแนวส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จำนวน 36 ครัวเรือน คาดว่าจะก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวได้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 นี้ 
 

3. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ และพื้นที่บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่รองรับในพื้นที่อื่นร่วมกันใหม่ต่อไป  

4. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ชุมชนฯ ประสงค์ขอเช่าที่ดิน รฟท. จำนวน 2 แปลง ประกอบด้วย 1.พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟสำราญ จังหวัดขอนแก่น ชุมชนหนองแวงตราชู (ใหม่) 2.พื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่เช่า แปลง R5 (โครงการ TOD ขอนแก่น) คาดว่าจะดำเนินการอนุมัติให้เช่าทั้ง 2 แปลง ภายในเดือนมีนาคม 2566

5. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี -หาดใหญ่ – สงขลา  ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลและเจรจากับชุมชนที่บุกรุกในพื้นที่บ้านบางดาน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา คาดว่าจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ – สงขลา ได้ภายในปี 67 – 68

 6.กรณีการขอเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนโรงปูนตะวันออก กรุงเทพฯ ขณะนี้พอช. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบตามความประสงค์ของชุมชนฯ โดย รฟท.จะนำเสนอต่อคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการ รฟท. พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาต่อไป

ชาวบ้านอ่วม “คมนาคม” สั่งการรถไฟ-ทางหลวง เร่งแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน

 7. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงชุมทางตลิ่งชัน - ศิริราช กรุงเทพฯ บริเวณพื้นที่บางระมาด และพุทธมณฑลสาย 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนผัง เพื่อคำนวณปรับลดพื้นที่เช่า ส่วนพื้นที่พิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน โดยมีมติให้ใช้พื้นที่เข้า - ออกร่วมกัน 4 เมตร โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 65 ได้ลงพื้นที่และทำบันทึกตรวจร่วมทางเข้า- ออก เพื่อไปแถลงต่อศาล ปัจจุบันได้ส่งข้อมูลประกอบการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป   ขณะที่พื้นที่พุทธมณฑลสาย 2 ได้ตรวจสอบพื้นที่เพื่อปรับลดค่าเช่าย้อนหลังนับตั้งแต่มีคดีพิพาท (ทายาทเจ้าของที่ดินเดิม) อยู่ระหว่างการคำนวณพื้นที่ปรับลด เพื่อเสนอปรับลดค่าเช่าต่อไป

8. กรณีการคิดอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นไปตามอัตราค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยของชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ จะดำเนินการเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาภายหลังการอนุมัติหลักการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศต่อไป 

9.กรณีการแก้ปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนตลาดบ่อบัว จังหวัดฉะเชิงเทรา รฟท.ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกในพื้นที่แล้ว จำนวน 25 ราย อยู่ระหว่างการบังคับคดี 24 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 1 ราย ในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ รฟท.ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ผู้แทน ขปส. แจ้งว่ากลุ่ม ผู้บุกรุกดังกล่าวได้เข้ามาเจรจากับชุมชนฯ แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงด้วย แต่เนื่องจากมีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ ได้ประสานให้ พอช. จัดหาที่ดินของหน่วยงานอื่นหรือเอกชนรองรับต่อไป

10. กรณีการแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินของ รฟท. พื้นที่จังหวัดตรัง พอช. ได้ทำหนังสือแจ้งรายชื่อชุมชน และสมาชิกประกอบการขอเช่าที่ดินจำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองมวน ชุมชนควนดินแดง ชุมชนทางล้อ และชุมชนลำภูรา (ชายเขาใหม่พัฒนา) อยู่ระหว่างการขออนุมัติให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566

11.กรณีการแก้ไขปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนรถไฟสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับการค้างชำระค่าเช่าของ พอช. (สมาชิกชุมชนฯ) อยู่ระหว่าง รฟท. ดำเนินคดีแพ่ง และ พอช.ได้ดำเนินคดีกับสมาชิก    ที่ไม่ชำระค่าเช่าเช่นกัน โดยมี รฟท. เป็นโจทก์ร่วม สำหรับการขอเช่าใหม่เพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 26 ครัวเรือน จากเดิม 73 ครัวเรือน ซึ่ง พอช. ทำการวางผังเพื่อขอเช่าฯ แล้วเสร็จ ทั้งนี้ พอช. และ รฟท. จะได้หารือกันในระดับนโยบาย และรับผลพิจารณาทางกฎหมายประกอบการขอเช่าหรือให้เช่าต่อไปด้วย 

 12.กรณีการดำเนินการทางกฎหมายกับสมาชิกที่ไม่ชำระค่าเช่า หลังจากคณะทำงานย่อยฯ ของ รฟท. ผู้แทนชุมชน และ พอช. ลงพื้นที่ชุมชนนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ค้างค่าเช่าให้ชำระค่าเช่าแล้ว ให้เครือข่ายผู้แทนชุมชนเผยแพร่ข้อมูลต่อชุมชนอื่น ๆ ที่มีรูปแบบเดียวกันแล้ว พอช. ได้ดำเนินคดีกับสมาชิกที่ค้างชำระค่าเช่า โดยมี รฟท. เป็นโจทก์ร่วม ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนนำเงินค่าเช่าที่ค้างชำระมาทยอยจ่ายให้ พอช.

 13. กรณีการขอคืนพื้นที่เช่าในส่วนที่เป็นถนนสาธารณะประโยชน์ และในส่วนที่ชุมชนไม่ประสงค์จะขอเช่าพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่าง พอช.และชุมชนสำรวจข้อมูล จัดทำแผนผัง เพื่อเสนอต่อ รฟท. ปรับลดพื้นที่เช่า และค่าเช่า

 

นอกจากนี้การดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินโครงการของกรมทางหลวง จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ กรณีโครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ โครงการระบายน้ำแม่น้ำตรัง ตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ทล. ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดตรังแล้วว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 103 ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งหนองเป็ด และเป็นการครอบครองภายหลังจากการเป็นที่ดินของรัฐ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ทล. จึงจำเป็นจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ราษฎร ซึ่งจังหวัดตรังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือฯ แล้วนั้น ปัจจุบัน ทล. ได้แจ้งราษฎรทำสัญญารับเงินช่วยเหลือจำนวน 12 ราย ทำสัญญาแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนของศาล 2 ราย ส่วนอีก 6 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา