“อลงกรณ์” มั่นใจ ไทยผงาดท็อปเทนโลก ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหาร

28 ก.พ. 2566 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2566 | 16:46 น.

“อลงกรณ์” เชื่อมั่นไทยพร้อมก้าวขึ้นสู่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารท็อปเทนของโลก เร่งเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และอังกฤษ ปูทางสร้างโอกาสผู้ส่งออกไทยขยายตลาดทั่วโลก แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออก ปรับตัวรับมือกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ของอียูชิงได้เปรียบ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาเปิดงานเสวนาบนเวทีของงานแถลงข่าวประจำปี NRF 2023 Annual Press conference "Big Move" ภายใต้ประเด็นเสวนา“ปัญหาและโอกาสสู่ทางออกของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดยุโรปและอังกฤษ” โดยมีนายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Exim Bank และนายณัฐศักดิ์ มนัสรังษี K Fresh เข้าร่วม(28 ก.พ. 2566) “อลงกรณ์”  มั่นใจ ไทยผงาดท็อปเทนโลก ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหาร

โดย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการเอกชนในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหภาพยุโรป(อียู) และอังกฤษซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเปิดทางและสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในการส่งออกสินค้าไปอียูและอังกฤษ โดยกระทรวงเกษตรฯได้ลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมอาหารและกิจการชนบทของอังกฤษเพื่อขยายความร่วมมือทางการเกษตรทุกมิติ รวมทั้งการขจัดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

 

 

 

 

 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ใน 3 กรอบสำคัญ คือ เอฟทีเอทย-อียู ,เอฟทีเอไทย-อังกฤษ และเอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) โดย EFTA มีสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ถือเป็นความเคลื่อนไหว และก้าวใหม่ที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือเป็นมหาอำนาจทางอาหารท็อปเทนของโลกภายในปี 2030

“อลงกรณ์”  มั่นใจ ไทยผงาดท็อปเทนโลก ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหาร

นอกจากนี้ยังเป็นอาหารที่มีความปลอดภัย (Food Safety)ต่อโลก โดยมีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm 2 Tables) ภายใต้การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่รวมถึงสหภาพยุโรป และอังกฤษ ที่จะมีการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกัน ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางบก โดยเฉพาะการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟสายไทย-จีน-ลาว-ยุโรป

สำหรับโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งในเรื่องการรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าหลักที่มีฐานการตลาดอยู่เดิม ได้แก่ 1.สินค้าปศุสัตว์ - ไก่แปรรูปและไก่หมักเกลือ (สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) โดยในปี 2565 ไทยส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร มูลค่า 38,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2564 ถึงร้อยละ 69 2. สินค้าพืชผักผลไม้สดผลไม้แปรรูป และข้าว (สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์)

สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง และผลไม้กระป๋อง (เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี) 3. สินค้าประมงและสัตว์น้ำ (แช่แข็งและแปรรูป) - ปลาหมึกแช่แข็ง (อิตาลี) ปลาทูน่ากระป๋อง (เนเธอร์แลนด์) และ 4.ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน เบลเยียม อิตาลี) และ 5.สินค้าอาหารที่มีศักยภาพในอนาคต(Future Food) ได้แก่

1.สินค้าโปรตีนทางเลือกจากพืช(plant based protein )

2.สินค้าโปรตีนทางเลือกจากแมลง(edible insect based protein)

3.สินค้านวัตกรรมที่ตอบสนองโภชนาการของผู้บริโภค

“อลงกรณ์”  มั่นใจ ไทยผงาดท็อปเทนโลก ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหาร

นายอลงกรณ์ ยังเสนอแนะด้วยว่า ผู้ประกอบการของไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโอกาสและปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ ได้แก่ 1.กฎระเบียบด้านมาตรฐานและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยอาหารที่ประเทศผู้ส่งออกต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ สิทธิมนุษยชน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 2.กฎระเบียบมาตรการของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ

แต่ทั้งนี้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ยังส่งผลกระทบมายังผู้ผลิตรวมถึงประเทศไทยด้วย อาทิ กฎหมาย Deforestation free products ที่สหภาพยุโรปได้เห็นชอบต่อการออกกฎหมาย ครอบคลุมสินค้า 7 ชนิด คือ ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบบางชนิด โดยสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2566

นอกจากนี้มีกฎหมาย Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ขอบเขตการบังคับใช้ จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า ที่ใช้ในการผลิตสินค้า และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566

กฎหมาย Corporate Due diligence เป็นกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) แนวคิดการบริโภคสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรป (Localization) เพื่อลดการขนส่งอันเป็นสาเหตุของการก่อมลพิษและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อาจมีผลกับการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศที่สามในอนาคต

อนึ่ง การจัดงานข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญภาครัฐได้แสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย เพื่อร่วมต่อยอดความคิดและร่วมหาทางแก้ปัญหา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดันสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ตลาดยุโรปและอังกฤษโดยเฉพาะบริษัทชั้นแนวหน้าของไทย เช่น เอ็นอาร์เอฟ(NRF) ที่มีเป้าหมายขยายเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าอาหารไทยและเอเชียในอังกฤษและยุโรป ซึ่งมีมูลค่าตลาดนี้ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท