CEOใหม่"การบินไทย"ลุยฟื้นฟู ปั้นรายได้ 1.3 แสนล้าน

17 ก.พ. 2566 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2566 | 09:34 น.
2.9 k

ซีอีโอใหม่ “การบินไทย” กางแผนปั้มรายได้ปีนี้แตะ 1.3 แสนล้านบาท เผยธุรกิจมีทิศทางเติบโตดีกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ คาดปีนี้ EBITDA จ่อเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ได้เร็วกว่าปลายปี 2567

ซีอีโอใหม่การบินไทย” กางแผนปั้มรายได้ปีนี้แตะ 1.3 แสนล้านบาท เผยธุรกิจมีทิศทางเติบโตดีกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกระแสเงินสด 3.5 หมื่นล้านบาท คาด EBITDA จ่อเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทมั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ได้เร็วกว่าปลายปี 2567 รวมถึงนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้เร็วกว่าปี 2568

จากการลดต้นทุนเป็นสำคัญ เพื่อความอยู่รอด รวมถึงการทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการมาปีกว่า จนทำให้การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ ซึ่งการบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูไปได้แล้วกว่า 70% เหลือเรื่องของการปรับโครงสร้างทุนและการจัดหาสินเชื่อใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

อีกทั้งด้วยการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ปัจจุบันการบินไทยไม่มีปัญหาเรื่องของสถานะทางการเงินเหมือนในอดีต และมั่นใจว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่าเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเป็นปลายปี 2567    

  • ผลการดำเนินงานดีกว่าที่คาดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอย่างมีนัยสำคัญ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าบริบทของการบินไทยในวันนี้แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้มาก และจากการพึ่งตัวเองมาโดยตลอด รวมถึงการลดต้นทุนก็ทำให้วันนี้การบินไทยมีต้นทุนที่แข่งขันได้ 

ชาย เอี่ยมศิริ

ส่งผลให้ธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ณ วันนี้สถานะทางการเงินของการบินไทย ถือว่ามีทิศทางดีกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ในแผนฟื้นฟูอย่างมีนัยสำคัญเกือบทุกด้าน

CEOใหม่\"การบินไทย\"ลุยฟื้นฟู ปั้นรายได้ 1.3 แสนล้าน

ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสดที่ปัจจุบันมีอยู่ในมือราว 3.5 หมื่นกว่าล้านบาท ถือว่ามากที่สุดในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา และดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 800 ล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญ คือ เป็นเงินสดที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจของการบินไทย ไม่ใช่เป็นเงินที่เป็นการเบิกเงินกู้มา

รวมถึงผลการดำเนินงานของการบินไทยในปี2565 ที่เตรียมจะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ถือว่ามีทิศทางดีกว่าที่ประมาณการไว้ในแผนฟื้นฟูอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งในเรื่องของกำไรจากการดำเนินงาน และผลประกอบการสุทธิในภาพรวม (จากประมาณการที่ระบุในแผนฟื้นฟูที่ขาดทุนอยู่ราว 6,500 ล้านบาท) ซึ่งจากภาพรวมที่ดีขึ้นมาก

  • จ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานคนละ 2.5 หมื่นบาท

ทำให้เมื่อช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา การบินไทยจึงได้ตอบแทนพนักงานการบินไทยที่ได้เสียสละมา 2 ปีกว่าที่ถูกลดเงินเดือนไป และร่วมมือร่วมใจฟื้นบริษัทขึ้นมา โดยจ่ายเงินช่วยเหลือ 2.5 หมื่นบาทให้แก่พนักงานทุกคน

ขณะที่ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ การบินไทยตั้งเป้าการสร้างรายได้อยู่ที่ 130,000 ล้านบาท เติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ราว 90,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันนี้แนวโน้มการจองตั๋วก็ดีมาก อย่างในเดือนม.ค.ที่เพิ่งปิดไป ก็ถือว่าดีกว่าแผน

โดยมีอัตรการบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 85-86% และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องถึงกลางเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากดีมานด์ผู้โดยสารยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้การบินไทยมั่นในว่าปีนี้การบินไทยจะมีผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

  • มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่าปลายปี 2567

ทั้งนี้หากทิศทางการเติบโตของธุรกิจการบินยังเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง การบินไทยมีแนวโน้มที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 2567 และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้เร็วกว่าแผนเดิมที่คาดไว้ในปี 2568

เงื่อนไขที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ คือ การบินไทยต้องมี BBITDA จากการดำเนินงาน หลังหักเงินสด จ่ายหนี้สินตามสัญญาค่าเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน ก่อนรายงานศาลและส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า ในปีนี้การบินไทยสามารถกลับมาทำการบินได้ 65% จากปี2562 (ก่อนโควิด-19) เนื่องจากการบินไทยยังมีเครื่องบินมาใช้ทำการบินได้ไม่เต็มที่ เพราะซัพพลายเครื่องบินมีน้อย จากผลกระทบโควิด ทำให้เรายังไม่สามารถจัดหาเครื่องบินได้อย่างตามใจที่เราต้องการ

  • จัดหาฝูงบินใหม่ระยะสั้น-ยาว

ทั้งนี้ปัจจุบันการบินไทยเหลือเครื่องบินลำตัวกว้างไว้ให้บริการอยู่ที่ 41 ลำ (ไม่รวมไทยสมายล์ที่มีเครื่องบินลำตัวแคบอยู่ 20 ลำ) ซึ่งเรามีแผนจะเช่าเครื่องบินมาเพิ่มอีก 9 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 350 จำนวน 6 ลำ ที่จะทยอยเข้ามาในเม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER อีก 3 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะรับมอบได้ในช่วงสิ้นปี2566 หรืออย่างช้าต้นปี 2567

แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีเครื่องบินเข้ามา การบินไทยได้นำเครื่องบินเก่าที่เราเป็นเจ้าของกลับมาทำการบินใหม่ 8 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 320 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 777-200 ER อีก 5 ลำ มาใช้เสริมทัพในช่วงที่ทราฟฟิกกำลังกลับมาในช่วง 3-4 ปีนี้

CEOใหม่\"การบินไทย\"ลุยฟื้นฟู ปั้นรายได้ 1.3 แสนล้าน

ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 49 ลำ (ไม่นับรวมเครื่องบินที่จะเช่าเพิ่มมาอีก 9 ลำ) เพื่อนำมาใช้ในการขยายจุดบินเข้าจีน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ในยุโรป ที่มองไว้คือ เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ,มิลาน อิตาลี และออสโรล ประเทศนอร์เวย์

ขณะเดียวกันการบินไทยก็อยู่ระหว่างการทำแผนการจัดหาเครื่องบินระยะยาว รองรับการดำเนินธุรกิจในช่วงปี2569-2570 หลังออกจากแผนฟื้นฟู คาดว่าจะได้ข้อสรุปในกลางปีนี้ ที่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเช่าหรือซื้อ

เพราะขึ้นอยู่กับดีลของแอร์บัสและโบอิ้งที่เราให้เขานำเสนอมา ซึ่งการจะตัดสินใจซื้อหรือเช่า จำนวนกี่ลำเรายังไม่ระบุ เพราะต้องดูต้นทุนเป็นสำคัญ ส่วนเครื่องบินที่อยู่ระหว่างดำเนินการขายก็จะเหลือ 22 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ แอร์บัสเอ 340 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 380 จำนวน 6 ลำ

  • ประเมินมูลค่าหุ้นก่อนเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม

นายชาย กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้การบินไทยได้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 21,827,719,170 บาท เป็น 336,824,601,650 บาท เรียบร้อยแล้ว โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 31,499,688,248 หุ้นเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อให้ทราบมูลค่าหุ้นที่เราจะนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งทางเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของการบินไทย กำลังประเมินมูลค่าหุ้น

โดยตามกระบวนการการแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือการหาผู้ร่วมทุนใหม่ จะดำเนินการได้เมื่อไหร่ยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินการในปีนี้ด้วย และเงื่อนไขในการออกจากแผนที่ต้องมีช่วงเวลาที่สัมพันธ์กันหรือไม่ห่างกัน เพราะถ้าทำเร็วเกินไปแล้วเอาเข้าจริงเราไม่สามารถจะเพิ่มทุน หรือได้เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ทางเจ้าหนี้ก็จะเสียประโยชน์

เนื่องจากการแปลงหนี้เป็นทุนดอกเบี้ยจะหยุด เราจึงพยายามทำให้การแปลหนี้เป็นทุน กับส่วนที่จะเสนอให้ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน มีช่วงเวลาที่มีความกระชับไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งผู้ถือหุ้นเห็นชอบอยู่แล้ว เหลือแค่กดปุ่มดำเนินการเท่านั้น

ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก็จะทำให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 33% ส่วนหน่วยงานของรัฐอื่นๆจะอยู่ที่ 10% โดยการบินไทยก็ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติแต่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ

ขณะเดียวกันการบินไทยยังต้องตัดสินใจด้วยว่าการบินไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้สินเชื่อใหม่หรือไม่ ซึ่งตามแผนการจัดหาสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาทก็มีรูปแบบ สินเชื่อระยะยาว (Term Loan)ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท หรือสินเชื่อหมุนเวียน ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท ซึ่งหากกลางปีนี้ผลการดำเนินงานยังคงบวกต่อเนื่อง การบินไทยก็อาจยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาทุนใหม่

หรืออาจมีการจัดหาเพียงเล็กน้อย ในลักษณะวงเงินเครดิตไลน์ สักประมาณ 8 พันกว่าล้านบาท เพื่อสำรองไว้กรณีเกิดความไม่แน่นอนจากโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราหาได้ และต้องพิจารณาว่าจะใช้การจัดหาสินเชื่อใหม่แบบไหน เพราะถ้าเป็นสินเชื่อหมุนเวียน ไม่ได้มีอะไรผูกพัน แต่หากเป็น Term Loan ก็จะต้องผูกกับการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย ซึ่งจากสินทรัพย์ที่เรามีคืออาคารสำนักงานใหญ่ และอาคารที่ดอนเมือง ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ที่นำมาค้ำประกันได้