‘อินคิวเบชันฯ’ หนุน 2 สตาร์ทอัพไทย พัฒนานวัตกรรม ลดขยะพลาสติก

11 ก.พ. 2566 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 16:31 น.

“เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค” องค์กรไม่แสวงหากำไร สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย “นาโน ออเนี่ยนส์” และ “ไมโครเวนดิ้งเทค” พัฒนานวัตกรรมลดปัญหาขยะพลาสติก ผ่านโครงการ SUP Challenge 

“ซิง ซุน ซวน” Program Manager ประจำองค์กร เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ กล่าวว่า อินคิวเบชั่นฯ พยายามค้นหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย ผ่านการทำงานร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย พร้อมจัดทำโครงการ SUP Challenge ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ค้นหานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติก โดยมีสตาร์ทอัพถึง 76 ราย ที่ร่วมโครงการ

‘อินคิวเบชันฯ’ หนุน 2 สตาร์ทอัพไทย พัฒนานวัตกรรม ลดขยะพลาสติก
 

สำหรับประเทศไทย สตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนมี 2 รายคือ คือ “สดาวุธ การะเกตุ” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นาโน ออเนี่ยนส์ และ “สกล สัจเดว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครเวนดิ้งเทค จำกัด ซึ่งในแต่ละสตาร์ทอัพ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนแตกต่างกัน แล้วแต่โปรเจ็กต์ที่นำเสนอ 

โปรเจ็กต์ของนาโน ออเนี่ยนส์ “สดาวุธ” เล่าว่า ทำเรื่องหลอดจากฟางข้าว เริ่มทำไพรอทโปรเจ็กต์ 3 หมื่นหลอด โดยกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด ผ่านร้านอาหารพาร์ทเนอร์ 6 ราย อาทิ Blackheath Bistro, Singha Complex , 361 THREE SIX ONE, psychic bar, ต้นจันทน์บาร์, บ้านหอมกาแฟ และอื่นๆ

  “สดาวุธ การะเกตุ” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นาโน ออเนี่ยนส์

ส่วนไมโครเวนดิ้งเทค “สกล” เล่าว่า ทำนวัตกรรมเครื่อง RVM รับซื้อขวดพลาสติก และอลูมิเนียม เนื่องจากการคลุกคลีกับชุมชนในจังหวัดนครปฐมกว่า 15 ปี ทำให้เห็นถึงปัญหาและโอกาสในการแก้ไข จึงใช้เทคโนโลยีเอไอผลิตเป็นเครื่องรับซื้อขวดพลาสติก ที่สามารถคัดแยกและระบุยี่ห้อ ระบุขนาดขวดได้ เป็นการบริหารการจัดการขยะ คัดแยกขยะจากต้นทาง โดยผู้ที่นำขยะมาทิ้งจะได้รับคะแนนสะสม เพื่อแลกรับบริการและสินค้าต่างๆ จากผู้ที่ร่วมโครงการ หรือใช้บริการในอีโคซิสเต็มของไมโครเวนดิ้งเทค ที่มีทั้งตู้จำหน่ายน้ำมันหยอดเหรียญ ร้านซักรีด และตู้รีฟิลเติมน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น 

ขณะนี้ตู้รับซื้อขวดได้ผลิตและติดตั้งในชุมชนแล้ว 5 ตู้ และเดือนมิถุนายน จะมีคนให้เช่าที่อีก 20 แห่ง ทั้งใน นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งเป็นชุมชนหนาแน่น ก็จะมีการติดตั้งตู้เพิ่มเติม โดยขณะนี้ราคาต้นทุนของตู้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท แต่เมื่อผลิตปริมาณเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนลดลงได้
  “สกล สัจเดว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครเวนดิ้งเทค จำกัด

“ซิง ซุน ซวน” กล่าวเพิ่มเติมว่า อินคิวเบชันฯ นอกจากสนับสนุนทุนในการทำไพรอทโปรเจ็กต์หรือผลิตสินค้าตัวอย่าง ก็ยังสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ เทคนิค และแนะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยต่อยอดโปรเจ็กต์ต่างๆ ของสตาร์ทอัพ  
 

“ตอนเริ่มโครงการ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องลดขยะพลาสติกให้ได้เท่าไร แต่เป้าหมายคือ เราอยากเข้าใจว่าในแต่ละประเทศ มีโซลูชั่น ตัวเลือกอะไรที่จะใช้แทนพลาสติก และเราต้องการเทสต์ว่า ธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม คาเฟ่ มีความพร้อมที่จะใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแค่ไหน โปรแกรม SUP Challenge จึงเป็นเหมือนการเช็คตลาด”   จากโปรแกรมที่ดำเนินการมา พบว่ามีธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ที่เข้าร่วม  60 ร้าน ที่มีความอยากเปลี่ยนแปลง หาวัสดุทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  ‘อินคิวเบชันฯ’ หนุน 2 สตาร์ทอัพไทย พัฒนานวัตกรรม ลดขยะพลาสติก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวในประเทศไทย ในปี 2564 มีขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) เกิดขึ้นภายหลังการบริโภคประมาณ 2.76 ล้านตัน คิดเป็น 11% ของปริมาณขยะทั้งหมด ถึงแม้ว่าขยะพลาสติกแบบใช้
ครั้งเดียวสามารถนํากลับมารีไซเคิลได้ แต่ไม่นิยมในการเก็บรวบรวมนํามาขาย เนื่องจากมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกสูง น้ำหนักเบา ยากต่อการขนส่ง ทําให้ไม่คุ้มค่าต่อการดําเนินการของผู้รับซื้อของเก่า
‘อินคิวเบชันฯ’ หนุน 2 สตาร์ทอัพไทย พัฒนานวัตกรรม ลดขยะพลาสติก  

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเหตุให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจําถิ่น แต่วิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์แบบ New Normal จะยังคงอยู่ ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกมากยิ่งขึ้น โครงการของ อินคิวเบชันฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,860 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566