Geopolitics-นโยบายการค้าใหม่ ความเสี่ยงส่งออกไทย

04 ก.พ. 2566 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2566 | 13:03 น.

เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อจะลากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯให้ถดถอย

เห็นได้จากผลกระทบตามมาจากสงครามทำให้ภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ราคาสินค้าและบริการของโลกยังอยู่ในระดับสูง สวนทางกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลความต้องการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็นของแต่ละประเทศปรับตัวลดลง สะท้อนได้จากการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ติดลบต่อเนื่อง

ขณะที่ยังมีอีก 2 ประเด็นใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กว่า 60%  นับจากนี้ ได้แก่ 1. การดำเนินนโยบาย และมาตรการทางการค้าของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในช่วง 1-5 ปีที่ผ่านมาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยต้องปรับตัว รวมถึงการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยง 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของประเทศมหาอำนาจ และประเทศต่าง ๆ ในหลายภูมิภาคของโลก

สำหรับนโยบาย หรือมาตรการทางการค้าที่สำคัญในส่วนของสหรัฐฯ ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้หันกลับมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีความพยายามดึงฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯและดำเนินยุทธศาสตร์หลักในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Buy America จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศ,  Made it in America พยายามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศ และซัพพลายอเมริกาโดยดึงบริษัทอเมริกันให้กลับไปลงทุนในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากภายนอก

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมีการออกกฎหมายใหม่ ๆ เช่น CHIPS and Science Act of 2022 หรือ CHIPS Act 2022 เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้อยู่ภายในประเทศเพื่อสกัดจีนทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

Geopolitics-นโยบายการค้าใหม่ ความเสี่ยงส่งออกไทย

ส่วนจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นเรื่องสังคมนิยมสมัยใหม่ ที่พึ่งพาตัวเอง และเป็นผู้เล่นสำคัญของโลก โดยมีการดำเนินนโยบายวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ และเน้นนโยบาย Made in China โดยชูความเป็นผู้นำด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่มุ่งเป้าจะผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ใน ประเทศให้ถึง 70% ภายในปี 2025 ขณะเดียวกันยังเน้นนโยบายเชิงรุกด้านอี-คอมเมิร์ซ

ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสัดส่วนการค้าเป็นอันดับ 2 ของโลก ช่วงที่ผ่านมาได้ใช้นโยบายกรีนดีล (โมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างสภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรม) โดยมีมาตรฐานสูงมากไม่ว่าจะเป็นหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ เรื่องประมง

ล่าสุด มีการออกกฎระเบียบที่เชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ CBAM หรือการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กฎห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการทำลายป่า รวมถึงออกกฎระเบียบเกี่ยวกับ CHIPS Act เพื่อเสริมสร้างการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาค ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เวลานี้มีหลายคู่ของโลก ที่เกิดเป็นสงครามแล้วคือรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะครบรอบ 1 ปี ของสงครามในวันที่ 24 ก.พ.นี้ และสถานการณ์ยังส่อยืดเยื้อหลัง สหรัฐฯและชาติตะวันตก ประกาศจะส่งรถถังประสิทธิภาพในการรบสูง พร้อมเงินช่วยเหลืออีกมหาศาลให้กับยูเครน เปิดหน้าเป็นสงครามตัวแทนอย่างชัดเจน ส่งผลสถานการณ์ส่อเกิดความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยรัสเซียออกมาระบุนี่คือการยั่วยุอย่างโจ่งแจ้ง และประกาศจะตอบโต้ด้วยอาวุธที่ทรงพลังยิ่งกว่า

ขณะที่สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาช่องแคบเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นก็ยังคุกรุ่น ยังไม่รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซีเรีย-ตุรกี ที่ยังประมาทไม่ได้ว่าจะไม่เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

ดังนั้นทั้งเรื่องนโยบายและมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายคู่ของโลกที่เพิ่มความสลับซับซ้อนของปัญหามากขึ้น และอาจปะทุรุนแรงขึ้นเมื่อไรก็ได้ ซึ่งความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจบีบให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องเลือกข้าง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ การค้า และการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงอาจลามผลกระทบมายังประเทศไทยได้

ดังนั้นภาครัฐและเอกชนผู้ส่งออกของไทยต้องติดตาม และวางแผนรุก รับ และปรับตัวให้เท่าทันกับ สถานการณ์อยู่เวลาเพื่อช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันและลดผลกระทบที่อาจตามมา