ส.อ.ท.ลุยตั้ง 10 กลุ่มอุตฯใหม่ ดันไทยสู่ประเทศรายได้สูง

03 ก.พ. 2566 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 12:26 น.
969

ภาคการผลิตเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ รับโลกเปลี่ยน 4 กลุ่มมาแรง ทั้งต่อยอดอุตฯดั้งเดิม ลุย New S-Curve, BCG, Climate Change ลุ้นช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ-เพิ่มยอดส่งออก หนุนไทยสู่ประเทศรายได้สูง ส.อ.ท.เล็งตั้งเพิ่ม 10 กลุ่มอุตฯใหม่ จี้รัฐเร่งมือ ดึง “เทสลา” ปักฐานผลิตรถ EV

ภาคการผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศของไทย กำลังถูกบีบให้เร่งปรับตัวครั้งใหญ่จากทิศทางของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงจากหลากหลายปัจจัยที่ถาโถมเข้ามา ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่ป เทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระแสรักสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและการส่งออก ลดถูกกีดกันการค้า ฯลฯ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ย้อนหลังกลับไป 10 ปีก่อนโควิด เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3% หรือกว่า 3% เล็กน้อยต่อปี ทำให้ไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงได้ (ธนาคารโลก กำหนดประเทศที่มีรายได้สูง ต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีมากกว่า 12,536 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ดังนั้นไทยต้องหา Growth Engine หรือเครื่องยนต์ตัวใหม่ ๆ ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีมากกว่า 60%

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • ยกเครื่องสู่อุตฯแห่งอนาคต

ทั้งนี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมถือเป็นต้นทางของการส่งออกที่สำคัญ โดยมีสมาชิกของ ส.อ.ท. มากกว่า 15,000 บริษัท จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ จากมีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไปจนถึงบริษัทเอสเอ็มอีอยู่ในนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งเวลานี้ภาคการผลิตของไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพื่อรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ด้วยเหตุปัจจัยข้างต้นซึ่งต้องเร่งปรับตัวให้ทันเพื่อลดผลกระทบ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ จากที่เราพึ่งพาอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากว่า 50 ปี ปัจจุบันไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ แรงงานไทยขาดแคลน ต้องใช้แรงงานนำเข้า ขณะที่เทคโนโลยีของโลกยุคดิจิทัลทรานส์ฟอเมชั่น ก็เกิดการ Disrupt ในอุตสาหกรรมที่ไม่ทันสมัยต้องปรับตัว”

ดังนั้นภายใต้นโยบาย ONE FTI ของ ส.อ.ท. ณ ปัจจุบันได้เร่งผลักดันสมาชิกเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ทิศทางของโลกเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของ First Industry หรืออุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ 45 กลุ่ม ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถต่อยอดให้เป็น First S-Curve ได้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค มีแบรนด์ดัง ๆ ของค่ายรถทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกามาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ปีหนึ่ง ๆ เป็นล้านคัน ดันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 11-12 ของโลก

ส.อ.ท.ลุยตั้ง 10 กลุ่มอุตฯใหม่ ดันไทยสู่ประเทศรายได้สูง

  • ไทยแข่งอินโดฯดูดลงทุน EV

เวลานี้รัฐบาลโดยบีโอไอ ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่มีคนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้กว่า 7 แสนคน และมีห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยว เนื่องมากมาย ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงรถยนต์ใช้พลังงานสะอาดในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน หรือนํ้ามันจากพืช

ในช่วงที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการดึงค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนคือ BYD เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้มีซัพพลายจากจีนที่เกี่ยวข้องตามเข้ามาอีกมาก รวมถึง ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิต iPad iPhone สัญชาติไต้หวันที่ได้ผันตัวมาผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยร่วมทุนกับกลุ่มปตท.ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และอีกผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลกจากสหรัฐฯ คือ เทสลา (Tesla) ที่เวลานี้มีไทยกับอินโดนีเซียกำลังแย่งชิงให้มาลงทุนตั้งฐานผลิต โดยประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้ไปเจรจากับ “อีลอน มัสก์” เจ้าของ Tesla ในส่วนของไทยควรต้องเร่งเจรจาเช่นกัน

  • จ่อตั้ง10 กลุ่มอุตฯใหม่

ในกลุ่มต่อมาคืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ New S-Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยไม่เคยมีมาก่อนที่ได้เร่งให้การส่งเสริม อาทิ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ดิจิทัล, การแพทย์,ไบโอเคมิคอล และไบโอที่เกี่ยวข้องกับนํ้ามันเชื้อเพลิง เป็นต้น

 “ในกลุ่ม New S-Curve นี้ทาง ส.อ.ท.เราให้ความสำคัญโดยช่วง 2 ปีนับจากนี้ เรามีแผนจะจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มจาก 45 กลุ่มเดิม ปีนี้ตั้งเป้าไว้ 5 กลุ่ม และปีหน้าอีก 5 กลุ่ม กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะตั้งใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, ยานยนต์ไฟฟ้า, อากาศยาน, สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประสานการทำงานและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ”

  • BCG-ลดโลกร้อนมาแรง

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีอีก 2 หมวดอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งผลักดันคือหมวด BCG (Bio-Circular- Green Economy) ที่รัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่งในช่วงการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพปลายปีที่ผ่านมา ผู้นำทั่วโลกได้ขานรับเป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะสร้างโอกาสในการลงทุน และสร้างรายได้เข้าประเทศอีกมาก เช่น อาหารแปรรูป เวชสำอาง อาหารเสริม ไบโอพลาสติก นํ้ามันเครื่องบินที่เป็นกรีน เป็นต้น

 และหมวดสุดท้ายคือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เวลานี้หลายภูมิภาคของโลกมีความรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ไฟไหม้ป่า ความหนาวเย็น และนํ้าท่วม ในหลายภูมิภาคของโลก ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ รวมถึงเพื่อลบผลกระทบจากคู่ค้าจะใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้า เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ แต่หากใครปรับตัวได้เร็วก็จะช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

  • หอการค้าฯชี้โอกาสไทยอื้อ

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้นอกจากจะเป็นโอกาสทองของไทยด้านการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวแล้ว แง่การลงทุนถือเป็นโอกาสทองที่ไทยจะต่อยอดจากความสำเร็จการเป็นเจ้าภาพประชุม APEC ที่ได้ชี้ให้ผู้นำภาคธุรกิจของเอเปคได้เห็นถึงโอกาสการลงทุนในไทย ทั้งในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล รวมถึงอุตสาหกรรมภาคบริการและการท่องเที่ยว คาดภายใน 3-5 ปีจากนี้จะมีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 6 แสนล้านบาท

หน้า  1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3859 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566