FTAไทย-อียู  “พาณิชย์”เร่งเปิดเจรจาไตรมาสแรกปี66

31 ม.ค. 2566 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 15:09 น.

"พาณิชย์’ เปิดแผนเจรจา ปี 66 เดินหน้านับหนึ่ง FTA ไทย-อียู เร่งปิดดีล FTA ที่ค้าง 4 ฉบับ ให้จบในปี 67  ตั้งเป้าให้ FTA เป็นกลไกเพิ่มสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับคู่ จาก 63% เป็น 80% ภายในปี 2570

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทย ในปี 2566 ว่า กรมมีแผนการเจรจา FTA 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 เดินหน้าเปิดเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเร็ว หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบหารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า  เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายจะเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู โดยเร็วที่สุด โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ รวมถึงเห็นชอบกรอบเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งผ่านการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ไทยสามารถเปิดเจรจา FTA กับอียู ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้กรมฯจะเร่งสรุปผลการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ คือ เอฟตา (ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ให้จบภายในปี 2567 โดยวางแผนจัดการประชุมทุก 2-3 เดือน เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าและสรุปผลได้ตามกำหนด และด้านที่ 3 เร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC (ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance (ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู) และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนผ่านที่ประชุม กรอ.พาณิชย์

 

FTAไทย-อียู  “พาณิชย์”เร่งเปิดเจรจาไตรมาสแรกปี66

 

“FTA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลก ผ่านการเปิดตลาด ลดเลิกอุปสรรคทางภาษีศุลกากร และที่มิใช่ภาษี ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า และยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน กรมจึงได้ให้ความสำคัญในการเร่งเดินหน้าเรื่องการทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญ

โดยเฉพาะกับอียู ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับต้นในการเปิดเจรจา FTA ของไทยในปีนี้ ซึ่งอียูถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของการค้าไทยกับโลก สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไก่แปรรูป ข้าว เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก”

 

FTAไทย-อียู  “พาณิชย์”เร่งเปิดเจรจาไตรมาสแรกปี66

 

นอกจากนี้ สำหรับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ อาทิ กลุ่ม GCC ในปี 2565 มีมูลค่าการค้ากับไทย สูงถึง 39,618.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 6.71% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยค้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) สูงสุดในกลุ่ม GCC รองลงมา คือ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และโอมาน ขณะที่การค้ากับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 6,239.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศอยู่ที่ 2,831.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

 

FTAไทย-อียู  “พาณิชย์”เร่งเปิดเจรจาไตรมาสแรกปี66

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ในปี 2565 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 359,542.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,542,911.58 ล้านบาท) ขยายตัว5.1% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 171,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,951,350.69 ล้านบาท) และนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 187,753.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,591,560.89 ล้านบาท)

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น