“อลงกรณ์” เร่งสร้างเพชรบุรีโมเดล พัฒนา 17 ชุมชนสีเขียวเขตเทศบาลเมืองต้นแบบ

28 ม.ค. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2566 | 15:15 น.

“อลงกรณ์” ลุย 595 โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน 62 จังหวัด เร่งพัฒนา17 ชุมชนสีเขียวเขตเทศบาลเมืองเป็นต้นแบบเพชรบุรีโมเดล ส่งเสริมเกษตรในเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ได้รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองโดยมีการดำเนินการและอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งสิ้น 62 จังหวัด มีพื้นที่เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนโครงการจำนวน 595 แห่ง ประกอบด้วย

(1) พื้นที่วัด จำนวน 19 แห่ง

(2) พื้นที่โรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัย จำนวน 373 แห่ง

(3) พื้นที่โรงพยาบาล จำนวน 13 แห่ง

(4) พื้นที่ชุมชน จำนวน 91 แห่ง

(5) พื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ พื้นที่ของหน่วยงานราชการและพื้นที่เอกชน จำนวน 99 แห่ง 

ตัวอย่างผลความก้าวหน้าการดำเนินงานฯ ของจังหวัดลำพูน มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเสร็จจำนวน 7 ท่าน คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายนำร่องโครงการฯ เป็นชุมชนท่าขาม-บ้านฮ่อม ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน จำนวน 200 ครัวเรือน

โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการฯ หน่วยงานภาครัฐ กับพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนตามความต้องการของชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก และการเพาะดอกดาวเรือง ผักสวนครัว พืชสมุนไพร การกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำตลาด สร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชน พัฒนาและอนุรักษ์ทุนทางวัฒนธรรม สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน ให้เป็นเมืองเกษตรสุขภาพและอาหารปลอดภัย 

เช่นเดียวกับความก้าวหน้าการดำเนินงานของจังหวัดน่าน มีการดำเนินการโครงการคัดเลือกพื้นที่ในบ้านสวนหอม ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน เป็นพื้นที่นำร่อง คนในชุมชนปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษขาย โดยมีตลาดสดและร้านอาหารในจังหวัดน่าน

โดยแผนในปีงบประมาณ 2566 มีการบูรณาการสู่สถาบันการศึกษา ในพื้นที่ เช่นร.ร.ดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน ภายในโรงเรียนมีการส่งเสริม การเรียนรู้การปลูกผัก แบบไร้สารเคมี การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสามารถนำผลผลิตที่ได้มาใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน เพื่อลดต้นทุนและยังปลอดภัยแก่นักเรียนอีกด้วย

  “อลงกรณ์” เร่งสร้างเพชรบุรีโมเดล พัฒนา 17 ชุมชนสีเขียวเขตเทศบาลเมืองต้นแบบ

นอกจากนี้ ยังรับทราบรายงายผลความก้าวหน้าของคณะทำงานฯ ในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ (Green National Housing Authority) ได้สนับสนุนนโยบายการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

การจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติทุกโครงการ มีการออกแบบวางผังโครงการและมีองค์ประกอบ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวตามเกณฑ์ทุกโครงการ โดยใช้ต้นไม้ประจำท้องถิ่นและต้นไม้ที่หาได้ในท้องตลาดทั่วไป และได้มีการสำรวจพื้นที่โครงการสำหรับปลูกต้นไม้ (เพิ่มเติม) เพื่อสนับสนุนนโยบายฯ

โดยในกรุงเทพมหานคร มีโครงการของการเคหะแห่งชาติตั้งอยู่ในพื้นที่ 21 เขต 150 โครงการ และจากการสำรวจมีพื้นที่ว่าง ในโครงการที่สามารถดำเนินการปลูกต้นไม้ได้ จำนวน 4 เขต 19 โครงการ

ส่วนคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการดำเนินการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านสวนและต้นไม้พื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร และร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยปลูกต้นไม้ที่สวน 80 พรรษามหาราชินี 100 ปี กระทรวงคมนาคม เขตคลองเตย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดมลพิษ โดยโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นของกรุงเทพฯ ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 ปลูกต้นไม้ไปแล้วทั้งหมด 233,420 ต้น 

“อลงกรณ์” เร่งสร้างเพชรบุรีโมเดล พัฒนา 17 ชุมชนสีเขียวเขตเทศบาลเมืองต้นแบบ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอให้พิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่อุตสาหกรรม (Green Industry) ขึ้นใหม่ โดยมีนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เป็นประธานคณะทำงาน ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ได้คิกออฟโครงการชุมชนสีเขียว(Green Community) 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีภายใต้โครงการเพชรบุรีโมเดล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยส่งเสริมการทำการเกษตรในเมือง(Urban Farming)สร้างรายได้ลดรายจ่ายของครัวเรือนในชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้นำชุมชน

โดยการทำงานร่วมกันระหว่างทีมเกษตรเพชรบุรี ทีมเพชรบุรีโมเดลและชุมชนเป็นการผนึกพลังสร้างเมืองสีเขียว เมืองเกษตรปลอดภัยของหน่วยงาน องค์กร ชุมชน และท้องถิ่นตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ( Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project ) ภายใต้รูปแบบเกษตรในเมือง (Urban Farming) เพื่อสร้างรายได้ อาชีพ และอาหาร ปลอดภัยให้กับคนในเมือง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหลายรูปแบบเช่น สวนเกษตร(Pocket Garden) สวนวนเกษตร(Forest Garden)

โดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์เกษตร และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เชิงประจักษ์ในเมือง รวมทั้งเป็น เครื่องยนต์ตัวใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจในเมือง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชนบท สร้างความสมดุลใหม่ให้กับประเทศ ด้วยการดำเนินการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับมลพิษโดยพืชพรรณท้องถิ่น มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นไม้ดอกไม้ประดับ พืชอาหาร สมุนไพร ผักสวนครัวสร้าง ลดรายจ่ายสร้างรายได้ และเพิ่มทางเดินเท้าสีเขียวที่ร่มรื่นเพิ่มคุณภาพขีวิตของคนเมืองและชุมชน เป็นต้น"

โดยเมืองสีเขียวมุ่งหวังให้เกิดระบบนิเวศที่ดี มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง มีระบบกำจัดขยะที่มีมาตรฐานให้เหลือศูนย์ (zero waste) ลดฝุ่น ควันพิษ PM 2.5 พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียถูกสุขลักษณะ ลดการใช้น้ำต่อหัวประชากรประหยัดพลังงาน ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน(global warming)”นาย อลงกรณ์ กล่าว