ชงครม.ไฟเขียว "สินธนโชติ"สร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้าน

25 ม.ค. 2566 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 12:41 น.

“กรมขนส่งทางบก” ชงครม.ไฟเขียว "สินธนโชติ" สร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้านบาท เล็งส่งพื้นที่ภายในปี 66 เร่งก่อสร้างเสร็จภายใน 3 ปี คาดเปิดให้บริการปี 68 เตรียมซุ่มศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้าสุราษฎร์ฯ-มุกดาหาร คาดเสร็จปี 66

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนม วงเงินรวม 1,361 ล้านบาท พื้นที่รวม 121 ไร่ ปัจจุบันกรมฯได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนผู้ชนะการประมูลเพื่อร่วมลงทุนบริหารศูนย์ขนส่งสินค้า จังหวัดนครพนม หากครม.เห็นชอบแล้วหลังจากนั้นกรมฯจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้วเสร็จภายในปี 2566 ขณะเดียวกันกรมฯได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างบางส่วนแล้ว ก่อนที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินการลงทุนก่อสร้างโครงการฯ เพิ่มเติม ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568

 

ที่ผ่านมากรมฯได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net cross) ซึ่งมีเอกชนทั้งหมด 6 ราย ที่เข้าซื้อซองประมูลศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม ประกอบด้วย 1.บริษัท ชาญนครวิศวกรรม จํากัด 2. บริษัท วีอาร์ไพล์ จำกัด 3. บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 4. บริษัท ไพโอเนียร์ โกลบอล ซัพพลาย จำกัด 5. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และ 6. บริษัท สินธนโชติ จำกัด โดยผู้ที่ชนะการประมูลโครงการฯ นี้ คือ บริษัท สินธนโชติ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอของโครงการฯนี้

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า โครงการฯ ดังกล่าว ภาครัฐจะดำเนินการก่อสร้างควบคู่กับการหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อบริหารศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนมไปพร้อมกัน โดยเอกชนที่เข้าร่วมลงทุน จะต้องรับผิดชอบลงทุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน,ค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ในส่วนอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปีนับจากปีเปิดให้บริการ

ชงครม.ไฟเขียว \"สินธนโชติ\"สร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้าน

ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการฯได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปัจจุบันศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนม ก่อสร้างอยู่ในท้องที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ขนาดเนื้อที่ประมาณ 121 ไร่ 3 งาน 67.6 ตารางวา มีผู้ถูกเวนคืน จำนวน 31 ราย 46 แปลง ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 126.06 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่ภายในศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย อาคารอำนวยการกลาง,อาคารสำนักงานขบ. ,อาคารตรวจควบคุมร่วม, อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า ,อาคารคลังสินค้าทั่วไป ,อาคารคลังสินค้าศุลกากร ,อาคารซ่อมบำรุง ,อาคารที่พักอาศัย ,จุดตรวจทางเข้า-ออก ,สถานีชั่งน้ำหนัก,ห้องควบคุมไฟฟ้า ฯลฯ

 

ทั้งนี้โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) รวมถึงรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ขณะเดียวกันกรมฯยังมีแผนแม่บทศึกษาโครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งหมด 2 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี,มุกดาหาร ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้าทั้ง 2 แห่ง ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ปี 2562 ซึ่งกรมฯเล็งเห็นว่าทั้ง 2 จังหวัดถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการผลิตและแหล่งกระจายสินค้า ฯลฯ รวมทั้งมีความต้องการการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง จะใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาภายใน 1 ปีหรือปี 2566 แล้วเสร็จ

ชงครม.ไฟเขียว \"สินธนโชติ\"สร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้าน

รายงานข่าวจากกรมขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า สำหรับการศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เบื้องต้นกรมฯจะดำเนินการจ้างที่บริษัทปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาใหม่ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ปี 2562 ควบคู่กับการออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน วงเงินประมาณ 7 ล้านบาท โดยผลการศึกษาในครั้งนี้จะครอบคลุมแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost

ชงครม.ไฟเขียว \"สินธนโชติ\"สร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้าน

นอกจากนี้ด้านการศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดมุกดาหารจะดำเนินการล่าช้ากว่าศูนย์ขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเล็กน้อย เนื่องจากในผลการศึกษาจะต้องดำเนินการทบทวนออกแบบรายละเอียดโครงการฯเพิ่มเติม เพราะเป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อกับแนวรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อศึกษาปริมาณการขนส่งสินค้า, ลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ,และงบประมาณที่จะต้องดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้าทั้ง 2 แห่ง เสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป