เปิดตัวเอกชน 6 ราย ซื้อซองประมูลลงทุน “ศูนย์ขนส่งนครพนม”

15 ต.ค. 2564 | 19:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 00:20 น.
512

“กรมขนส่ง” เผยเอกชน 6 ราย ร่วมซื้อซองประมูลศูนย์ขนส่งนครพนม 699 ล้านบาท เปิดยื่นข้อเสนอ 22 ต.ค.นี้ ชงครม.เคาะกลางปี 65 ยันจ่ายค่าเวนคืนผู้บุกรุกทุกรายแล้วเสร็จ

ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา “กรมขนส่ง” ได้เปิดประมูลศูนย์ขนส่งนครพนม ดึงเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งทางบกและขนส่งทางรางร่วมกันในอนาคต รวมทั้งรองรับการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายอีสานของรฟท.ที่อยู่ระหว่างการประมูลในช่วงนี้

 

 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยกับ  “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการประมูลโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงินรวม 699.87 ล้านบาท พื้นที่รวม 121 ไร่ ล่าสุดกรมฯได้มีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net cross) โดยเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ฯ นครพนม จะต้องรับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ในส่วนอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปีนับจากปีเปิดให้บริการ 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชนสนใจซื้อซองประมูลแล้ว จำนวน 6 ราย โดยกำหนดให้เอกชนยื่นซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 22 ตุลาคม 2564 หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาข้อเสนอของเอกชนภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนมกราคม 2565 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565 โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในสิ้นปี 2565  เบื้องต้นภาครัฐจะเป็นผู้เริ่มก่อสร้างก่อนล่วงหน้าเอกชนราว 6 เดือน  ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2567

 

 


สำหรับเอกชนทั้ง 6 ราย ที่เข้าซื้อซองประมูลศูนย์ขนส่งนครพนม ประกอบด้วย 1. บริษัท ชาญนครวิศวกรรม จํากัด  2. บริษัท วีอาร์ไพล์ จำกัด 3. บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด  4. บริษัท ไพโอเนียร์ โกลบอล ซัพพลาย จำกัด 5. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และ6. บริษัท สินธนโชติ จำกัด

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ขบ. ได้ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ โดยจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ถูกเวนคืนครบทุกรายเรียบร้อยแล้ว และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565-2567 สำหรับดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ซึ่งได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ก่อสร้างอยู่ในท้องที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ขนาดเนื้อที่ประมาณ 121 ไร่ 3 งาน 67.6 ตารางวา  มีผู้ถูกเวนคืนจำนวน 31 ราย (46 แปลง) ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 126.06 ล้านบาท

 

 


“โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม กรมฯมีแผนที่จะก่อสร้างเฟส 2 ด้วยเช่นกัน เบื้องต้นการก่อสร้างในเฟส 2 นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณตู้ขนส่งสินค้าเกินกำหนดที่จะรองรับพื้นที่ได้ โดยเอกชนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถรองรับอาคารขนส่งสินค้าได้อีก 2 หลัง” 

 

 


อย่างไรก็ตามโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) รวมถึงรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล