‘กรมขนส่ง’ ลุยประมูลจ้างเอกชน สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ เฟส 2

18 ม.ค. 2566 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2566 | 15:58 น.

“กรมขนส่ง” ลุยเปิดประมูลจ้างเอกชน สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ เฟส 2 วงเงิน 690 ล้านบาท ภายในเดือนมี.ค.นี้ คาดได้ตัวผู้ชนะปีนี้ เร่งก่อ สร้าง 3 ปี ลุ้นบอร์ดมาตรา 36 เคาะเอกชนร่วมบริหารสัญญา 15 ปี รองรับการขนส่งระบบรางควบรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ

ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 335 ไร่ มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการไปมาก เบื้องต้นในปีงบประมาณ 2566 กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่ 2 วงเงิน 690 ล้านบาท

‘กรมขนส่ง’ ลุยประมูลจ้างเอกชน สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ เฟส 2

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้จัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายใน เดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลและลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ภายในปีนี้ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภาย ในปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อ สร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568

ส่วนความคืบหน้าการให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 วงเงินโครงการรวมกว่า 2,864 ล้านบาทนั้น ล่าสุดมีผู้ยื่นข้อเสนอ จำนวน 1 ราย คือ บริษัท เค.เอ็น.อาร์ กรุ๊พ จำกัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค ตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน หากภาครัฐพิจารณาเห็นว่าข้อเสนอของเอกชนรายดังกล่าวเหมาะสมและมีประโยชน์ต่อภาครัฐ จะดำเนินการจัดทำสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

‘กรมขนส่ง’ ลุยประมูลจ้างเอกชน สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ เฟส 2

 “สาเหตุที่ระยะเวลาสัญญาสัมปทานโครงการฯ น้อยกว่าการประมูลโครงการอื่นๆในรูปแบบ PPP เนื่องจากโครงการฯนี้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างค่อนข้างมาก ส่วนเอกชนลงทุนน้อยกว่า ทำให้ระยะเวลาของสัญญาสัมปทานลดลง ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จ โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อเก็บสินค้าแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ขณะนี้มีเอกชนใช้บริการในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเปิดประเทศและด่านพรมแดน ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ”

ทั้งนี้โครงการฯเอกชนจะร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน และค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ทั้งหมด รวมทั้งผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ

 

นอกจากนี้ภายในโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาพื้นที่ลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เปล่า และตู้ที่บรรจุสินค้าแล้ว (Container Yard) สำหรับการวางตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งเป็นพื้นที่การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าขาเข้า-ออก อาคาร CFS หลังที่ 2 อาคารสำนักงานฝ่ายปฏิบัติการ ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ โรงอาหารส่วนปฏิบัติงาน อาคารซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล อาคารเอกซเรย์และอาคาร CCA ซึ่งเป็นการก่อสร้างขยายในส่วนพื้นที่ปฏิบัติงาน เช่น อาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า เป็นต้น รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งกับทางราง และสอดคล้องกับการเปิดบริการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

‘กรมขนส่ง’ ลุยประมูลจ้างเอกชน สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ เฟส 2

สำหรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ. เชียงของ ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) บนเนื้อที่กว่า 335 ไร่ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศไปสู่ภายในประเทศ รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A เชื่อมต่อการขนส่ง ระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนฝั่งตะวันตก (นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน) รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.เชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภาคเหนือ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า