ผู้ประกันตน ม.33 ออกจากงาน อยากรักษาสิทธิประกันสังคม ทำอย่างไร

25 ม.ค. 2566 | 04:45 น.

ผู้ประกันตน ม.33 ลาออกจากงาน ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม ต้องทำอย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ดูรายละเอียดที่นี่

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออกจากงาน ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม ต้องทำอย่างไร 

ผู้ประกันตน ม.33 ออกจากงาน อยากรักษาสิทธิประกันสังคม ทำอย่างไร

สำนักงานประกันสังคม ไขข้อสงสัยประเด็นนี้ โดยให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม ทำดังนี้

สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพื่อรักษาสิทธิ 6 กรณี ดังนี้

  • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  • กรณีคลอดบุตร
  • กรณีทุพพลภาพ
  • กรณีเสียชีวิต
  • กรณีสงเคราะห์บุตร
  • กรณีชราภาพ

ผู้ประกันตนมาตรา 39 เป็นผู้ประกันตนที่สมัครใจที่จะส่งเงินสมทบต่อและใช้สิทธิกับประกันสังคม เมื่อออกจากการเป็นผู้ประกันมาตรา 33 (ลูกจ้างทำงานมีนายจ้าง) 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

  • เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (นับเงินสมทบทุกครั้งของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมรวมกันจะทำงานกับนายจ้างกี่บริษัทก็ตาม)
  • ยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

เอกสารการสมัคร

  • แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
  • บัตรประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้
  • กรณีต้องการนำส่งเงินสมทบหักผ่านบัญชีธนาคารให้ถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี ของผู้ประกันตน

การยื่นใบสมัคร

ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

สถานที่ยื่นใบสมัคร ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ /จังหวัด / สาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง