‘วอริกซ์’ สปีด Eco Fashion ผลิตเสื้อรีไซเคิล รับเทรนด์โลก

22 ม.ค. 2566 | 12:33 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 12:40 น.

“วอริกซ์ สปอร์ต” เพิ่มสปีด Eco Fashion ตั้งเป้าลดขยะแฟชั่น เล็งขยายไลน์ผลิต “เสื้อรีไซเคิล” จากวัสดุเหลือทิ้งในไลน์การผลิตและยูนิฟอร์มเก่าเป็นเสื้อใหม่ล้านตัว

สหประชาชาติ ได้กำหนดกฎบัตรด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ ปีพ.ศ. 2593

ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้ามีความพยายามผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจจนเกิดกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion เช่น การใช้ใยผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% รวมทั้งวัสดุออแกนิกส์และตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดซัพพลายเชนลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573

ล่าสุดในมหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ผลิตภัณฑ์ Eco Fashion เข้ามามีบทบาทอย่างมากในรูปแบบของเสื้อนักกีฬาที่ผลิตขยะพลาสติกริมชายหาด นอกจากนี้แบรนด์ Adidas ยังผลิตเสื้อกีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน FIFA World Cup 2022 ให้กับ 5 ทีมชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและสเปน โดยผลิตจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเล เกาะต่างๆ ชายหาดและพื้นที่ชุมชนตามแนวชายฝั่งถึง 50%

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีผู้ประกอบการแบรนด์เสื้อผ้าหันมาให้น้ำหนักกับ Circular Fashion หรือแฟชั่นหมุนเวียนนี้เช่นกันหนึ่งในนั้นคือ “วอริกซ์ สปอร์ต” ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสื้อรีไซเคิลกว่าหมื่นตัวและตั้งเป้าการผลิตให้ได้ถึงหลักล้านตัวในอนาคตอันใกล้

 

นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วอริกซ์ได้ขยายธุรกิจจากคำว่าสปอร์ตแวร์ไปสู่ Health Active Lifestyle และมีเป้าหมายสร้างความเติบโตได้อย่าง unlimited growth หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ เรื่อง SDGs ผ่านการพัฒนาเสื้อรีไซเคิลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

‘วอริกซ์’ สปีด Eco Fashion ผลิตเสื้อรีไซเคิล รับเทรนด์โลก

โดยเริ่มผลิตเสื้อรีไซเคิลครั้งแรกให้กับสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี และเสื้อวิ่งงานมาราธอนของสุพรรณบุรี ในระยะแรกมีการผลิตหลักพันตัวและขยายเป็นหลักหมื่นตัวก่อนจะเบรกการผลิตในช่วงโควิดที่ผ่านมาเนื่องจากต้นทุนเส้นด้ายที่เกิดจากการรีไซเคิลแพงกว่าเส้นด้ายปกติถึง 30% ในขณะที่บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้

อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในช่วงปลายปี 2564 บริษัทเริ่มรื้อฟื้นโครงการ เสื้อรีไซเคิล ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มเข้าไปศึกษาและสำรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับบริษัท พบว่าทุกโรงงานมีเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตเสื้อและสามารถนำเศษผ้าไปย่อยสลายเพื่อผลิตเป็นเส้นด้ายและนำมาผลิตเสื้อได้กว่า 1.3 ล้านตัวและหากใช้กระบวนการย้อมสีเป็นสีดำ โดยไม่ใช่น้ำจะเกิดคาร์บอนเครดิตที่เป็นบวกอีกจำนวนมาก และประหยัดน้ำรวมทั้งไม่เกิดน้ำเสีย อีกด้วย

“เสื้อรีไซเคิล ซึ่งเป็นโครงการที่เราตั้งใจนำเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดเย็บและสามารถนำมาผลิตเสื้อได้อีก 1 ล้านตัวมาทำการขายและสร้างความยั่งยืนในเรื่องของการนำของเหลือกลับมาทำเป็นเสื้อ หรือแม้แต่การนำเสื้อเก่ามารีไซเคิลเป็นเสื้อใหม่ ซึ่งเร็วๆ นี้เราจะมีโครงการ “ตั้งตู้” รับเสื้อเก่ามาทำเป็นเสื้อใหม่ เช่น ยูนิฟอร์มบริษัทเดิม ชุดนักเรียนโรงเรียนเดิม เสื้อฟุตบอลสโมสรเดิม นำกลับมาเป็นเสื้อยูนิฟอร์ม เสื้อฟุตบอลสโมสรใหม่ในปี 2566”

 

ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมงบสำหรับการพัฒนา Circular Fashion โดยเฉพาะเนื่องจากโมเดลดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในยุโรปแต่ในภูมิภาคนี้ยังไม่มีคนที่ทำจริงจัง “วอริกซ์ ” จึงต้องการเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทำจริงจังในเรื่องนี้ และตั้งเป้าว่าจะขยายการผลิตจากหลักหมื่นตัวไปเป็นหลักล้านตัวให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจะต่อยอดจากการพัฒนาเสื้อโพลีเอสเตอร์ที่วอริกซ์กำลังทำอยู่ไปสู่เสื้อผ้าคอตตอน เนื่องจากปัจจุบัน “วอริกซ์ ” กำลังมูฟตัวเองไปสู่การเป็น Lifestyle Fashion โดยใช้เส้นใยที่มาจากวัสดุที่เหลือจากการผลิตในโรงงานและการเกษตรด้วย

‘วอริกซ์’ สปีด Eco Fashion ผลิตเสื้อรีไซเคิล รับเทรนด์โลก

“ในส่วนของเสื้อรีไซเคิลเราทำในลักษณะของการผลิตตามโปรเจ็กต์หรือ B2B ซึ่งเราเชื่อว่าบริษัทใหญ่ๆที่มีโครงการและมีนโยบายที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทให้ความสนใจหมด และเรากำลังทำแคมเปญเก็บขยะและนำขวดพลาสติกมาทำเสื้อจริงๆ ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า เบื้องต้นเราลงไปคุยกับโรงเรียนเรื่องการสอนแยกขยะ และการเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นเส้นใย แต่ตอนนี้ยังต่อยอดไม่ครบแวลูเชนแต่เรากำลังพยายามทำให้ครบ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของปีนี้ ตั้งแต่ปีใหม่มาเราแสวงหาความร่วมมือรอบด้านทั้ง 360 องศา

โดยภายในปีนี้จะมีการนำคอลเลคชั่นรีไซเคิลไปวางจำหน่ายในฝั่งของ B2C อย่างแน่นอน แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น แต่จะมีการต่อรองกับผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ในการชดเชยต้นทุนในวัสดุที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้กับต้นทุนที่มีการปรับลดลงจากปีก่อนที่ปรับตัวสูงขึ้นไประดับหนึ่ง จากค่าเงินบาทและราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาขายเป็นภาระให้กับผู้บริโภคมากเกินไป”

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566