ประชากรลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำยังไม่ทันกับความต้องการ

11 ม.ค. 2566 | 20:43 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2566 | 03:56 น.

สทนช. ประเมิน ประชากรลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำยังไม่ทันกับความต้องการ อุปโภค-บริโภค ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10% เมื่อเทียบการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกว่า 60%

 

 

 

 

 การประเมินของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ที่ระบุว่า แม้จำนวนประชากรไทย จากสถิติล่าสุดสิ้นปี 2563 กว่า 66 ล้านคน จะลดลงจากปีก่อน 3 แสนกว่าคน แต่ปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ยังคงมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก ไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกว่า 60%

              

เกษตรกรไทยใช้น้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี จึงมีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด เพราะสภาพภูมิอากาศแบบประเทศไทยสามารถเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรม

 

โดยเฉพาะพืชไร่อย่างข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม่นับรวมพืชสวนโดยเฉพาะไม้ผลที่ต้องการน้ำมากในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงออกผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยว หรือปาล์มน้ำมันที่มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก

              

ที่สำคัญ การเกษตรของประเทศไทยไม่เพียงแต่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในเท่านั้น ยังมุ่งหวังเพื่อการส่งออกอีกด้วยความต้องการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องไม่อาจปฏิเสธได้ไม่ว่าภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  แต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเขื่อนสำหรับกักเก็บน้ำ ดูจะเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

ประชากรลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำยังไม่ทันกับความต้องการ

ครัวเรือนคนไทยก็ดี  เมืองโบราณต่างๆ ก็ดี  จะเห็นวิถีการดำรงชีพด้วยน้ำ หากเป็นบ้านเรือนก็อาศัยตุ่มโอ่งในการเก็บน้ำจากหลังคาหรือการมีสระเก็บน้ำในหมู่บ้าน ตลอดจนการขุดบ่อน้ำตื้น บ่อน้ำลึก เอาไว้ใช้ในการดำรงชีพ ส่วนเมืองโบราณจะเห็นร่องรอยการนำน้ำจากภายนอกเข้ามาสู่พื้นที่เมือง

 

ทั้งระบบท่อ ระบบคันตูน้ำเป็นการยืนยันว่า ต้องอาศัยแนวคิด สิ่งก่อสร้างในการเก็บกัก ชักนำน้ำ เข้ามาใช้ทั้งในระดับครัวเรือน เมือง ตลอดจนในการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวของเมืองโบราณต่างๆ

              

ประเทศไทย อาศัยน้ำจากแหล่งเดียวคือน้ำฝน และในช่วงเวลาจำกัดเฉลี่ยที่ 6 เดือน โดยมีช่วงปริมาณฝนมากราว 3 เดือนเท่านั้นแต่ในเรื่องการใช้ เราใช้น้ำตลอดทั้ง 12 เดือน ทั้งอุปโภคบริโภคและการผลิตในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนการรักษาระบบนิเวศ

ประชากรลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำยังไม่ทันกับความต้องการ

การพัฒนาแหล่งน้ำกลายเป็นสิ่งจำเป็น และพื้นที่เหมาะแก่การพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าเขาทั้งสิ้น เพราะทำเลที่เหมาะสม เป็นแหล่งต้นน้ำ และใช้การลงทุนที่น้อยกว่า กระทบกระเทือนต่อพื้นที่ชุมชนน้อยกว่าเช่นกันเป็นเหตุผลข้อจำกัดที่รับรู้ทั่วกันไม่เช่นนั้นไม่รู้จะไปสร้างเขื่อนหาแหล่งกักเก็บน้ำได้ที่ไหน

              

กรมชลประทานได้รับเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรทั่วทุกภาค ถึงความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม และได้ลงทุนศึกษาความเหมาะสมโครงการ ตลอดจนพยายามผลักดันให้พัฒนาแหล่งน้ำ แต่ติดปัญหาที่เจ้าของพื้นที่ก่อสร้างเป็นหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

              

หน่วยงานเหล่านี้ มีหน้าที่ในการปกป้องอนุรักษ์ป่าตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน ดังนั้น เมื่อกรมชลประทานเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มักเผชิญปัญหาความขัดแย้งจากภารกิจตามข้อกฎหมาย กรมชลประทานทำหน้าที่พัฒนา กรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ ทำหน้าที่อนุรักษ์

              

เป็นหน้าที่ของหน่วยงานกลาง อย่างเช่นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ต้องทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการพิจารณาลดข้อขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ประเมินความคุ้มค่าในการขับเคลื่อนโครงการหรือยุติโครงการ พิจารณาทั้งแง่มุมเกษตรกรและแง่มุมสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วยกัน

              

ที่สำคัญ ต้องเร่งพิจารณาโดยเร็ว จำเป็นต้องพัฒนาก็เปิดให้พัฒนาทันที เช่นกัน หากไม่พบความเหมาะสมต้องยุติก็ต้องยุติโดยทันที ไม่ปล่อยให้เกิดความอึมครึมใดๆ ซึ่งไม่เกิดผลดีต่ออนาคตของประเทศไทยความมั่นคงด้านอาหารที่ตอกย้ำกัน หากไม่มีน้ำที่มีความเสถียรแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากจะยึดถือวางใจอนาคตได้ปราศจากความมั่นคงด้านอาหาร ประเทศไทยก็ย่อมเกิดความเสี่ยงหลายด้านตามมา ไม่ต่างจากยืมจมูกคนอื่นหายใจ

              

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน  รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ

 

ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เสนอ    3 ด้าน ได้แก่ ด้านน้ำต้นทุน ด้านความต้องการใช้น้ำ  และด้านการบริหารจัดการ   เพื่อ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยเร่งเก็บน้ำ สูบทอยน้ำ คือการสูบน้ำเป็นทอด ๆ จากแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมาย ส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง   

 

เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผน เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง

 

รวมถึงปฏิบัติการเติมน้ำ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง รองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และแผนปฏิบัติการ และปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นต้น
 

ประชากรลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำยังไม่ทันกับความต้องการ